นักเรียนสหรัฐอเมริกา

RELATED STORIES

Profile-นักเรียนสหรัฐอเมริกา

นักเรียนสหราชอาณาจักร

ชนชั้นนำของไทยเข้าถึงระบบการศึกษาอเมริกัน อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่1 ในยุคสหรัฐกำลังเติบโตทางเศรษฐกิจ ในฐานะประเทศที่ได้ประโยชน์จากสงครามโลกโดยตรง ในขณะที่อังกฤษ อยู่ในภาวะหลังสงคราม ประสพความยากลำบากในหลายด้าน

 ตระกูลสุขุม

เจ้าพระยายมราช  ต้นตระกูลสุขุม  ไต่เต้าจากสามัญชน จากสุพรรณบุรี  จนได้กลายครูสอนภาษาไทยของพระราชโอรสรัชการที่5 และมีโอกาสเดินทางติดตามไปสอนภาษไทยในอังกฤษ หลายปี เขามีโอกาสศึกษาความรู้ภาษาอังกฤษจนแตกฉาน(อ้างจากหนังสือ จากยมราชถึงสุขุมวิท โดยประสงค์ สุขุม  )  เป็นสะพานไปสู่ความรู้ต่างๆในโลกที่คนไทยในยุคนั้นน้อยคนนักจะมีโอกาส ต่อมาเขามีบทบาทในราชการไทยมา โดยเฉพาะบทบาทในการบริหารงานปกครอง

จากประสพการณ์ด้านการศึกษาของเขาได้ส่งผ่านต่อมา บุตรของเขาล้วนผ่านการศึกษาจากต่างประเทศ ช่วงแรกจากอังกฤษ  ในช่วงคาบเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งแรก ขณะอังกฤษประสพปัญหาที่เป้าหมายของสงครามนั้น  อิทธิพลสหรัฐฯ เริ่มเข้ามาแทนที่ยุโรปมากขึ้น จากนั้นมีกลุ่มนักเรียนไทยกลุ่มแรกๆ สามารถเข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียงของสหรัฐ

ประสบ สุขุม (ต่อมาเป็นหลวงพิศาลสุขุมวิท) ใช้ชีวิตการศึกษาส่วนใหญ่ในต่างประเทศ ตั้งแต่อายุ11ปี  โดยเริ่มที่อังกฤษ เข้าโรงเรียนประจำชั้นดีอีกแห่งที่คนไทยรู้จัก Haileybury College  .ในช่วงเดียวกับบรรดาราชนิกูลหลายคน ก็มาศึกษาที่นี่  เพื่อเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัยชื่อดังของอังกฤษ หรือไม่ก็โรงเรียนทหาร

ประสบกลับมาเมืองไทยในช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่1 แล้วไม่กลับไปเรียนต่ออังกฤษเพราะอังกฤษประสพภาวะสงคราม กำลังบอบซ้ำ และดูไม่ปลอดภัย เขาจึงถูกส่งไปสหรัฐในปี2460 ในกระบวนนักเรียนไทยกลุ่มใหญ่หลังสงคราม ซึ่งเป็นกลุ่มแรกๆที่มีจำนวนมากเดินทางไปศึกษาสหรัฐ(ปี2460) ในระยะที่สหรัฐกำลังเริ่มรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่ก็คือนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์กำลังทรงศึกษาวิชาการแพทย์ที่Harvard University อยู่ก่อนหน้านั้น(ปี2459) พระองค์จึงกลายเป็นศูนย์รวม และทรงดูแลนักเรียนไทยกลุ่มนี้อย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรงหาโรงเรียนที่ดีให้กับนักเรียนไทย  ประสบ สุขุม ได้เข้าเรียน Philips Exeter Academy  ซึ่งเป็นโรงเรียนชั้นดี เป็นบันใดนำเขาไปสู่การศึกษาระดับปริญญาตรีที่MIT และจากนั้นสมาชิกตระกูลสุขุม ผ่านโรงเรียนแห่งนี้อีกหลายคน   มีบางคนไปเรียนที่The Gunnery  ก็ถือว่าเป็นโรงเรียนชั้นนำเช่นเดียวกัน

ประสบ สุขุม  ต่อมามีบรรดาศักดิ์ พระพิศาลสุขุมวิท มีบทบาทสำคัญต่อราชการไทย สานต่อจากบิดาของเขา ในหลายบทบาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัชสมัยรัชการที่6  โดยเฉพาะการบุกเบิกอุตสาหกรรม   การสร้างถนนรถยนต์ยาวนับพันกิโลเมตร  รวมทั้ง บทบาทระหว่างประเทศ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเฉพาะเจรจากับสหรัฐเพื่อให้ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศผู้แพ้สงคราม

นอกจากประสบ สุขุมแล้ว น้องชายของเขาอีกคนหนึ่งก็เข้าเรียนที่ Philips Exeter Academy ด้วยคือประสาท สุขุม ซึ่งเป็นบุตรคนที่4ของเจ้าพระยายมราช บุตรชายคนนี้ต่อมาเรียนด้านภาพยนต์

ริเริ่มสร้างภาพยนต์ไทย ที่สำคัญเคยได้รับเลือกตั้งเป็น สส กรุงเทพฯด้วย

อีกคนหนึ่งคือหลวงสุขุมนัยประดิษฐ์  ซึ่งเป็นบุตรคนที่5ของเจ้าพระยายมราช เดินทางไปศึกษาต่อสหรัฐฯตั้งแต่เด็ก โดยเข้าเรียนที่              The Gunnery ความจริงแล้ว บุตรทุกคนของเจ้าพระยายมราช ล้วนผ่านศึกษาในต่างประเทศทั้งสิ้น ที่ยกมานี้เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวโรงเรียนมัธยมที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่งข้องกับโรงเรียนมัธยมในสหรัฐ จากข้อมูลที่มีอยู่ ส่วนใหญ่มากจากหนังสือ”จากยมราชถึงสุขุมวิท”  แม้กระทั่งผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ คือประสงค์ สุขุม* บุตรคนโตของพระพิศาลสุขุมวิท ก็เจริญรอยตามบิดา เข้าเรียนระดับมัธยมที่Philips Exeter  Academy จากนั้นก็ผ่านการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นดี รวมทั้งMBAจากHarvard University ด้วยอย่างไรก็ตามตระกุลสุขุม ลดบทบาทในสังคมไทยไปพอสมควร หลังจากยุคของพระพิศาลสุขุมวิท

และจากนั้น(กรณีพระพิศาลสุขุมวิท)อีก50ปี บัณฑูร ล่ำซำ ก็เข้าเรียนPhilips Exeter Academy ประมาณปี2509  และต่อมา บัญชา ลำซ่ำ กลายเป็นผู้แทนในการคัดเลือกนักเรียนต่างชาติในย่านนี้เข้าโรงเรียน ในจำนวนนี้ก็มีเศรณี เพ็ญชาติ  หลานชายจอมพลถนอม กิตติขจร เนื่องจากบิดาของเขาชำนาญ เพ็ญชาติเป็นบุตรเขยคนสำคัญ  ต่อมาเป็นญาติทางภรรยาของบัณฑูร รวมอยู่ด้วย ปัจจุบันโรงเรียนแห่งนี้ถือเป็นโรงเรียนชั้นนำของสหรัฐและของโลกอยู่

ตระกูลสารสิน

เทียนฮี้ สารสิน ต้นตระกูลสารสิน ถือเป็นบุคคลที่มีสายสัมพันธ์กับอเมริกันอย่างแน่นแฟ้น ในฐานะที่ได้รับการอุ้มชูจากมิชชันนารีอเมริกัน  ถือเป็นคนไทยคนแรกที่ผ่านการศึกษาวิชาแพทย์จากสหรัฐตั้งแต่รัชสมัยรัชการที่5ตั้งแต่ปี2414 นั่นคือฐานของไต่เต้าชั้นดี ที่ไม่เพียงประกอบอาชีพทีดีในสังคมไทยแล้ว ยังเป็นบันใดไปสู่การรับใช้ราชสำนัก  มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อเนื่องจนตราบเท่าทุกวันนี้

พจน์ สารสิน ในวัยเพียง9ขวบ มีโอกาสเช่นเดียวกับบิดา ได้เดินทางไปศึกษาที่สหรัฐ ก่อนหน้ากลุ่มนักเรียนกลุ่มใหญ่ประมาณ1ปี  โดยเริ่มต้นที่มลรัฐแคลิฟอร์เนีย จากนั้นเขาต้องข้ามประเทศสหรัฐฯมาอีกฝั่ง เมื่อมาพบกลุ่มนักเรียนไทยที่แมซซาจูเซ็ท  ภายใต้การด้านดูแลของสมเด็จพระบรมราชชนกเช่นเดียวกันคนอื่นๆ จากนั้น พจน์ก็มีโอกาสเข้าศึกษาที่ Wilbraham Academy* (ปัจจุบันชื่อ Wilbraham &Monson Academy)โรงเรียนชั้นนำอีกแห่งหนึ่งซึ่งต่อมากลายเป็นโรงเรียนประจำของตระกูลสารสินสืบมาจนถึงทุกวันนี้   เช่นเดียวกับ Boston University ไม่ว่าจะเป็นพงส์  เภา และอาสา  สารสิน ล้วนผ่านโรงเรียนนี้

พจน์ สารสิน ต่อมาได้มีโอกาสเรียนกฎหมายจากอังกฤษ  จากนั้นก็มีบทบาทในราชการและทางการเมืองในฐานะนักการทูตและงานด้านระหว่างประเทศ ในฐานะที่มีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศมหาอำนาจเช่นสหรัฐ ทำให้เขามีบทบาทในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ร่วมทั้งเคยเป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงสั้นๆด้วย

ตระกูลสารสิน เป็นตระกูลสำคัญของไทยที่มีบทบาทต่อเนื่องโดยเฉพาะราชการ  การเมืองและธุรกิจอย่างสมดุลจนตราบเท่าทุกวันนี้

พงส์ สารสิน บุตรชายคนโต หลังจากผ่านการศึกษา Wilbraham(ประมาณปี2490) และBoston Universityแล้วก็มีบทบาทสำคัญในการสร้างรากฐานธุรกิจ โดยเฉพาะการร่วมทุนกับบริษัทยักษ์ใหญ่สหรัฐ บุกเบิกธุรกิจน้ำดำ CocaCola  ก่อนจะเข้าสุ่การเมืองช่วงยาวช่วงหนึ่ง มีตำแหน่งทางการเมืองจนถึงระดับรองนายกรัฐมนตรี

บุตรชายคนที่สอง เภา สารสิน  เข้าเรียนระดับมัธยมที่Wilbraham เช่นเดียวกัน แต่เขาจบปริญญาด้านวิทยาศาสตร์จาก John Hopkin  University  จากนั้นเข้ารับราชการตำรวจ ไต่เต้าจบถึงระดับอธิบดีกรมตำรวจ จากนั้นก็มีบทบาทในภาคธุรกิจกับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ไม่ว่าซีพี หรือกลุ่มตระกูลล่ำซำ   ที่สำคัญก็มีโอกาสเข้าสู่การเมืองในรัฐบาลอานันท์  ปันยารชุน ในตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทยและรองนายกรัฐมนตรี

บุตรคนที่สาม บัณฑิต บุณยะปานะ  ใช้นามสกุลตามพี่สาวของพจน์ เพราะถูกขอเป็นบุตรบุญธรรม เป็นคนเดียวที่ไม่จบการศึกษาระดับมัธยมจาก Wilbraham หากไปจบจากDulwich Collegeที่อังกฤษ จากนั้นก็เข้าไปเรียนที่Boston university ที่สหรัฐ ก่อนจะเข้าสู่หน่วยงานราชการอีกแห่งหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญมากขึ้นในยุคต่อมา คือกระทรวงการคลัง และเติบโตในตำแหน่งเป็นปลัดกระทรวงในที่สุด แต่อายุสั้น

บุตรชายที่คนที่สี่ อาสา สารสินผ่านการศึกษาแบบผสมผสานระหว่างอังกฤษกับสหรัฐ ตามสูตรอย่างเคร่งครัดเริ่มจาก   Dulwich College แล้วข้ามฟากไปเรียนที่Wilbraham จากนั้นก็เข้าBoston University  เขาเข้ารับราชการ กระทรวงต่างประเทศ ที่มีบทบาทอย่างมากในประวัติศาสตร์ และเขากลายเป็นคนหนุ่มที่เติบโตในตำแหน่งอย่างรวดเร็ว ในตำแหน่งปลัดกระทรวงประเทศ จากนั้นลาออกมา และเคยร่วมรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ ปัจจุบันเป็นราชเลขาธิการพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

บุตรอีกคนหนึ่งที่ควรกล่าวถึง คือสุพัตร์ สารสิน ก็ผ่านการศึกษาระดับมัธยมจากโรงเรียนที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นโรงเรียนประจำตระกูลตามสูตรในสหรัฐด้วย จานั้นเข้ารับราชการทหาร  มีปัญหาการทำงานอยู่บ้าง อย่างไรเสีย เขาก็เกษียณอายุราชการในตำแหน่งพลเอก

นอกจากนี้ลูกหลานของ จอมพลป.พิบูลยสงคราม  ซึ่งความสัมพันธ์ที่ดีกับพจน์ สารสิน  ก็ศึกษาที่นี่ด้วย อาทิ  นิตย์ พิบูลย์สงคราม อดีตปลัดกระทรวงต่างประเทศ  ในรุ่นถัดมา

เข้าใจว่าลูกหลานของสารสินหลายคนผ่านโรงเรียนแห่งนี้ ปัจจุบัน  Wilbraham ยังต้อนรับลูกหลานคนไทยในชนชั้นนำอย่างสม่ำเสมอ นอกจากตระกูลสารสิน ก็มี   ภิรมย์ภักดี  อดิเรกสาร ทัพพะรังสี บุญ-หลง  พิจารณาจาก Prospectusของโรงเรียนในยุคปัจจุบัน ดูจะให้ความสำคัญกับตลาดไทยไม่น้อย  ยังมีภาพ บุตรชาย กร  ทัพพะรังสี(ซึ่งเป็นศิษย์เก่า คนหนึ่ง Wilbraham ด้วย) นักการเมืองไทยอยู่ด้วย

ตระกูลนิมมานเหมินทร์

ธารินทร์ และศิรินทร์ นิมมานเหมินทร์เป็นโมเดลสำคัญที่ควรกล่าวภึงเป็นพิเศษในฐานะผู้ผ่านการศึกษาในสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลกอีกกรณีหนึ่ง

เขาทั้งสองเป็นบุตรชายคหบดีเชียงใหม่ที่เติบโตมากับความเป็นเมืองศูนย์กลางภาคเหนือที่มีบุคคลิกเฉพาะทางเศรษฐกิจ  โดยเริ่มต้นอย่างสำคัญตั้งแต่รัชการที่5  คนตระกูลนิมมานเหมินทร์มักจะยกย่องหลวงอนุสารสุนทร(สุ่นฮี้ ชุติมา) เป็นบรรพบุรุษสำคัญในการสร้างรากฐานตระกูลชุติมา และนิมมานเหมินทร์ควบคู่กันไป

หลวงอนุสารฯเป็นกรมการพิเศษจังหวัดเชียงใหม่ และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์นี้ในรัชการที่5รากฐานของตระกูลนี้เติบโตมาจากการค้าขายส่งสินค้าท้องถิ่นภาคเหนือมากรุงเทพ ขณะเดียวกันนำสินค้าสมัยใหม่จากร้านฝรั่งในกรุงเทพไปขายให้ชนชั้นนำทางเหนือ ธุรกิจสำคัญแขนงหนึ่งก็คือปล่อยเงินกู้ จากนั้นขยายกิจการสร้างตลาด และอื่นๆต่อเนื่องจากจากทิ่ดินที่ยึดมาจากการจำนอง

สังคมภาคเหนือที่แวดล้อมด้วยการค้า ป่าไม้ ซึ่งมีชาวตะวันตกเป็นตัวละครสำคัญในยุคอานานิคม หลวงอนุสารฯ จึงเป็นคนหนึ่งที่สนใจความก้าวหน้าของตะวันตก และส่งเสริมลูกหลานมีการศึกษาที่ดี โดยเฉพาะการใช้ภาษาอังกฤษ

ปู่ของธารินทร์ –ศิรินทร์(กี นิมมานเหมินทร์) เข้าใจเป็นลูกชายพี่สาวของหลวงอนุสรณ์ฯ ที่เลี้ยงเอาไว้ มีหน้าที่ค้าขาย ติดต่อกับห้างต่างประเทศเพื่อนำสินค้ามาขายภาคเหนือ เขาจึงถูกส่งไปเรียนที่โรงเรียน อัสสัมชัญ  กรุงเทพ เพื่อให้ใช้ภาษาอังกฤษติดต่อชาวต่างชาติได้ดี  จากนั้นเขาแต่งงานกับบุตรสาวคนโตของหลวงอนุสรฯ

คนรุ่นต่อมาของนิมมานเหมินทร์ ไม่ว่า ไกรสีห์  พิสุทธิ์ อัน บุตรชายของ กี นิมมานเหมินทร์ ล้วนผ่านการศึกษาในต่างประเทศทั้งสิ้น ไกรสีห์ นิมมานเหมินทร์ บุตรชายคนโตของ จบการศึกษาMBA จากHarvard Universityคนแรกของไทย   ทำงานราชการอยู่ช่วงสั้นๆ ต่อมารับช่วงกิจการบิดาที่เชียงใหม่  พิสุทธิ์ นิมมานเหมินท์ จบจากLSE (London School of Economics and Political Science)จากอังกฤษเติบโตในราชการเป็นผู้ว่าแบงก์ชาติ  ส่วน อันจบการศึกษาสถาปัตยกรรมจากHarvard Universityคนแรกของไทย เป็นอาจารย์สอนวิชาสถาปัตยกรรม ที่เชี่ยวชาญเรื่องสถาปัตยกรรมไทย

อิทธิพลความคิดนี้ส่งผ่านในรุ่นต่อๆมา  ธารินทร์ และศิรินทร์ บุตรชายทั้งสองของไกรสีห์ จึงได้รับการส่งเสริมในเรื่องการศึกษาอย่างดียิ่ง  เริ่มจากโรงเรียนมงฟอร์ดที่เชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นโรงเรียนต่างจังหวัดที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง ภายใต้การอุปถัมภ์ของคริสต์จักร ที่เติบโตมากับบุคคลิกของเมืองเชียงใหม่ที่มีลักษณะสากลมากกว่าหัวเมืองอื่นๆตั้งแต่สนธิสัญญาเบาริ่ง

ธารินทร์ และศิรินทร์ได้รับการแนะนำจากครูสอนศาสนาได้เรียนระดับมัธยมเพื่อวางรากฐานภาษาอังฤษที่      Woodstock School โรงเรียนประจำชั้นยอดที่อินเดีย จากนั้นก็ข้ามไปเรียนที่สหรัฐ

ที่โรงเรียนประจำที่มีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่งในสหรัฐ The Choate  (ปัจจุบันชื่อChoate Rosemary Hall)   ในช่วงก่อนปี2510  ฐานการศึกษาระดับพื้นฐานเช่นนี้ทำให้ทั้งธารินทร์ ผ่านศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐ โดยจบปริญญาตรีจากHarvard University และMBA ,Stanford University ส่วนศิรินทร์ จบปริญญาตรีจากChicago Universityก่อนมาเรียนMBA ,Stanford University ต่อมาพวกเขาคือเป็นคนไทยไม่กี่คนที่สามารถเริ่มต้นทำงานในต่างประเทศได้ โดยธารินทร์เคยทำงานธนาคารสหรัฐในฟิลิปปินส์ ส่วนศิรินทร์ เคยทำงานบริษัทค้าหุ้นในญี่ปุ่น  ก่อนจะเติบโตในรวดเร็วในหน้าที่การงานในประเทศไทย

สหรัฐเป็นดินแดนของโอกาส จากนั้นสังคมไทยก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐ ในเชิงการศึกษาที่มีอิทธิพลสูงสุดต่อมา  มีโอกาสหลากหลาย  เนื่องจากโรงเรียนที่ดีในสหรัฐมีมากมาย

ชนชั้นนำในยุคนั้นก็เริ่มส่งบุตรหลานมาเรียนที่สหรัฐฯด้วย เช่น ตุ้ม หุตะสิงห์ บุตรชายของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีคนแรกของไทยในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี2475 ได้เข้าโรงเรียนมัธยมมีชื่อ Peddie School  ที่Highstown มลรัฐNew Jerseyในราวปี2482.ในยุคบ้านเมืองกำลังเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง อันเป็นช่วงชนชั้นนำไทยส่งบุตรหลานไปเรียนต่างประเทศน้อยราย เมื่อเข้ายุคอิทธิพลสหรัฐฯ มีบทบาทในประเทศไทย บุคคลสมาชิกราชวงศ์หันเหมาศึกษาในระดับต้นที่สหรัฐมากขึ้น  โดยเลือกโรงเรียนชั้นนำของสหรัฐฯ    เช่น หม่อมหลวงตรีทศยุทธ เทวกุล  ศึกษาที่St.Albans  School  ในกรุงวอชิงตัน ดีซีในปี2504

นอกจากนี้ ปิยะ จักกะภาก อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองและประพาส จักกะภาก อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม บุตรทั้งสอง ของหลวงบรรณกรโกวิท   ข้าราชการระดับสูงกระทรวงการคลัง และผู้ก่อตั้งคนหนึ่งของแบงก์กรุงเทพ  ก็ผ่านการศึกษาระดับมัธยมที่Philips Academy (Andover) ในก่อนปี2500 ซึ่งเป็นโรงเรียนชั้นนำ ที่ตระกูลเคนเนดี้ และบุช ส่งลูกหลานมาเรียน   เปรมชัย กรรณสูต  ผู้จัดการใหญ่กลุ่มอิตัลไทย ทายาทของนายแพทย์ชัยยุทธ กรรณสูต ผู้ก่อตั้ง เป็นศิษย์เก่าอีกคนหนึ่งที่สำคัญของPhilips Academy (Andover) ในราวปี2510

ส่วนลูกชายคนเดียวผู้อื้อฉาวของประภาส จักกะภาก คือ ปิ่น จักกะภาก เจ้าของและผู้บริหารกลุ่มเอกธนกิจที่ล้มครืนจากวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจในปี2540 และมีคดีความประวัติศาสตร์กับทางการอยู่ ก็ผ่านโรงเรียนชั้นนำ ในสหรัฐเช่นเดียวกัน The Hotchkiss School ซึ่งเป็นโรงเรียนของอดีตประธานบริษัทฟอร์ด   โรงเรียนนี้มีความสัมพันธ์กับสังคมธุรกิจไทยระดับสูงมากทีเดียว รุ่นน้องของเขาที่น่าสนใจเป็นบุตรชายทั้งสองของเกษม –ชัชนี จาติกวณิช   เป็นศิษย์เก่า The Hotchkiss School  โดยเฉพาะวสันต์ จาติกวณิชเป็นบุคคลที่น่าสนใจ เขาเข้าเรียนในช่วงปี2415-2518  วสันต์ถือเป็นรุ่นพี่เพียงปีเดียวของ ชุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ทายาทคนหนึ่งของบุญรอดบริวเวรี่  เมื่อเร็วๆนี้(ปี2002) The Hotchkiss School มาจัดงานเลี้ยงที่โรงแรมดุสิตธานี เพื่อพบปะศิษย์เก่าและรับสมัครนักเรียนไทยไปเรียน จุตินันท์ เป็นเจ้าภาพในงานนี้ที่มี Dean of Admissionของโรงเรียนมาด้วยตนเอง

มีโรงเรียนชั้นนำอีกบางแห่งที่คนไทยสามารถเข้าถึง เช่น Webb School of California ไม่ว่าจะเป็นศักดิ์ทิพย์ ไกรฤกษ์  ลูกชายพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์  อดีตผู้อำนายการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตรย์ที่มีบทบาทมากคนหนึ่ง ปัจจุบันศักดิ์ทิพย์  เป็นเอกอัครราชทูตประจำกรุงวอชิงตัน   โรงเรียนชั้นนำแห่งนี้ เป็นที่นิยมของชนชั้นนำไทยในยุคต่อๆมา  เกริกชัย เจริญรัชตภาคย์ และ สงกรานต์ อิสระ  ทายาทนักธุรกิจชั้นนำของไทยก็ผ่านโรงเรียนนี้เช่นกัน

The Loomis Chaffee School ที่มีศิษย์เก่าเป็นทายาทนักธุรกิจ รุ่นใหม่ เช่น อภิชาติ จูตระกูล

ในบรรดาโรงเรียนเอกชนชั้นนำของสหรัฐอื่นๆที่น่าสนใจ มีหลากหลายอีกมาก เช่น  กลุ่มผู้บริหารคนรุ่นใหม่ในเครือธนาคารกรุงเทพที่ก้าวหน้าในตำแหน่งระดับสูงเพียงวัย30ปีต้นๆ ล้วนผ่านศึกษาในสถาบันมีชื่อเสียงในต่างประเทศในสหรัฐฯ  ชนิดา โสภณพนิช บุตรสาวคนโตของ ชัย โสภณพนิช เรียนระดับมัธยมที่โรงเรียนมาแตเดอี ระดับมัธยมศึกษาปีที่3 ก่อนจะไปโรงเรียนที่เพื่อนพ่อแนะนำ Oregon Episcopal School เป็นโรงเรียนประจำที่Portland มลรัฐ Oregon เป็นพื้นฐานให้ก้าวไปเรียนระดับอุดมศึกษาในสถาบันมีชื่อ Rochester Institute of technology และ MIT  อีกคนหนึ่ง ปิยะ ซอโสตถิกุล   เรียนหนังสือที่เมืองไทยถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่2ที่โรงเรียนสาธิตปทุมวัน แล้วข้ามไปอีกฝากโลกไปเรียนต่อที่ Suffield  Academy   โรงเรียนมัธยมชื่อดังอีกแห่งหนึ่งในหลายแห่งของมลรัฐConnecticut เป็นบันใดไปเรียนที่MIT และHarvard ตามลำดับ

นักธุรกิจรุ่นใหม่ทายาทคนสำคัญของธนินท์ เจียรวนนท์ นักธุรกิจจะดับภูมิภาคคนสำคัญของไทยมีแนวคิดอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้  คงต้องดูจากโรงเรียนที่ลูกชายเขาเรียน

แม้ธนินท์ เจียรวนนท์ จะเรียนหนังสือมาไม่มากแต่ประสพการณ์ของเขาทำใหศึกษาเรียนรู้จากตะวันตกผสมผสานเข้ากับตะวันออก สร้างเครือข่ายธุริกจเครือเจริญโภคภัณฑ์เติบโตโดยใช้เวลาเพียง30ปี มีกิจการครอบคลุมในภูมิภาคนี้

แน่ละเขาให้ความสำคัญสหรัฐฯมากทีเดียว ในฐานะที่จุดประกายใหม่ให้กับธุรกิจอาหารเมื่อ25ปีที่แล้วในการศึกษาและร่วมทุนกับ Arber Acer จากสหรัฐฯ  ศุภชัย เจียรวานนท์ ลูกชายคนสำคัญที่มีบทบาทมากในธุรกิจใหม่ของซีพี เข้าโรงเรียนชั้นนำในสหรัฐเช่นเดียวกัน   เขาผ่านถึง2โรงเรียนก่อนจะเข้าศึกษาที่Boston  University  ได้แก่The Shipley School และ Dwighht-Englewood School  โดยที่โรงเรียนทั้งสองเป็นโรงเรียนประเภทไปกลับ เหตุที่เขาย้ายจาก Shipley มาที่Dwight-Englewood เพราะโรงเรียนแห่งหลังอยู่ใกล้เมืองนิวยอร์คใกล้บ้านพักของพี่สาวที่เขามาอาศัยด้วย

ศุภชัย เจียรววนท์ บุตรชายคนที่สาม หลังจากจบการศึกษาจากสหรัฐฯก็ฝึกงานในบริษัทที่ซีพีร่วมทุนในสหรัฐ ก่อนจะมาเมืองไทย ได้ริเริ่ม  และแสดงฝีมือในการสร้างธุรกิจใหม่ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ นั่นคือบริษัทเทเลคอมเอเชีย ผู้ให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานที่เป็นเอกชนรายแรกและใหญ่ที่สุดของประเทศไทย

โรงเรียนชั้นนำ โดยเฉพาะโรงเรียนประจำในสหรัฐ ยังเป็นเป้าหมายของชนชั้นนำไทยเสมอตราบเท่าทุกวันนี้  แม้ว่าโอกาสจะลดลงไปบ้าง เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจก็ตาม

อย่างไรก็ตาม บางคนสนใจโรงเรียนมัธยมศึกษาสหรัฐในภาพรวม ไม่ยึดติดกับชื่อเสียง แต่สนใจศึกษาด้วยเหตุผลของตนเอง กรณี บุญชัย เบญจรงคกุล แห่งกลุ่มยูคอมและDTAC ทายาทคนโตของตระกูลที่เติบโตจากการขายอุปกรณ์สื่อสารของยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมของสหรัฐ Motorola inc. บิดาของเขาภายใต้การช่วยเหลือของผู้บริหารMotorola ทำให้เขาเข้าเรียนโรงเรียนรัฐบาลที่Barrington High School(ปกติโรงเรียนรัฐบาลสหรัฐไม่ค่อยรับนักเรียนต่างชาติ) ในเมืองเดียวกับที่สำนักงานใหญ่ Motorola ตั้งอยู่ ในช่วงปลายสงครามเวียตนาม จากนั้นน้องๆก็เจริญรอยตาม  หรือกรณีทศ จิราธิวัฒน์บุตรชายคนสำคัญของสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ ผู้นำรุ่นที่สองของตระกูลผู้สร้างเครือเซ็นทรัลเติบใหญ่ ก็ส่งไปเรียนมัธยมที่สหรัฐ ในโรงเรียนเอกชนธรรมดาๆโรงเรียนหนึ่ง ในเมืองไมอามี่ มลรัฐฟลอริด้า Palmer School(ต่อมาปี2534เปลี่ยนชื่อเป็นPalmer Trinity School เนื่องมาจากควบกิจการโรงเรียนสองแห่งเข้าด้วยกัน)เมื่อประมาณปี2520

*ผมใช้ข้อมูลจากหนังสือ”สารสิน สวามิภักดิ์ “ของวิมลพรรณ ปิตธวัชชัย ค้นคว้าชื่อโรงเรียนจากแหล่งต่างๆรวมถึงinternet แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะเขียนผิดทุกตอนที่เอ่ยชื่อโรงเรียนนี้  แต่ก็เป็นแหล่งข้อมูลทีดีมากของผม นำไปสู่การหาข้อมูลที่ถูกต้องต่อไป แม้จะต้องใช้เวลามากทีเดียว  เพราะเป็นอีกหนึ่งโรงเรียนในหลายแห่งของโรงเรียนเอกชนสหรัฐที่เปลี่ยนชื่อใหม่ ในราวทศวรรษ1970   อย่างไรก็ตาม ต่อมาผมค้นพบเอกสารแนะนำตัวของอาสา สารสิน ในตอนเข้ารับตำแหน่งประธานกรรมการบริหารบริษัทผาแดงอินดัสตรีส์ จึงยืนยันข้อมูลที่ผมค้นพบ

จาก หนังสือหาโรงเรียนให้ลูก 2548

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น