อิทธิพลซีพี

ผมตื่นเต้นเสมอ  เวลาเขียนถึงเครือเจริญโภคภัณฑ์(Charoen Pokphand Group –CP Groupเรียกกันจนติดปากแล้ว ซีพี) ในช่วง30 ปีในฐานะนักเขียนเรื่องราวธุรกิจ    ผมคิดว่า ซีพีคือธุรกิจ ทีมีความสำคัญและทรงอิทธิพล ต่อสงคมไทย อย่างต่อเนื่อง และนับวันจะมากขึ้นด้วย

คนที่คิดว่ารู้จักซีพีดี  ก็คงติดตามพัฒนาการอย่างกระชั้นชิดมากทีเดียว  ภาพเครือธุรกิจที่มีพลวัตรและซับซ้อน มากกว่าที่คิดไว้  โดยเฉพาะหลังวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่เมื่อปี  2540 ผมยังนึกไม่ออกว่า มีกลุ่มธุรกิจไทยกลุ่มใด สามารถแสวงโอกาสใหม่ๆได้อย่างซีพี

แม้ว่าซีพีเริ่มต้นก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่วิวัฒนาการทางธุรกิจอย่างจริงจังเกิดขึ้นในอีก3ทศวรรษต่อมา (อ่าน สามทศวรรษสำคัญของซีพี   ) ทศวรรษแรก เริ่มต้นธุรกิจอย่างจริงจังหลังสงครามโลกครั้งที่สอง การค้าระหว่างประเทศเปิดฉากขึ้น ด้วยเครือข่ายที่แข็งแรงของชาวจีนโพ้นทะเล โดยเฉพาะระหว่าง จีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกงและไทย   เริ่มต้นจำหน่ายเมล็ดพันธ์พืช  ปุ๋ย  ยาปราบศัตรูพืช และ อาหารสัตว์   ทศวรรษที่2 เริ่มต้นอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ครั้งแรกในประเทศไทย  และทศวรรษที่3  ได้ค้นพบและสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ในอุตสาหกรรมการเกษตร สร้างผลสะเทือนไปทั่วชนบทไทย  ด้วยสิ่งเรียกว่า Contract farming   เป็นแนวคิดการขยายตัวทางธุรกิจโดยอาศัยโมเมนตัมทางสังคม  แรงขับดันการพัฒนาการผลิตอาหารเชิงการค้า   แรงบันดาลใจนั้น มาพร้อมกับแรงกดดันทางสังคมระดับหนึ่ง ซีพีปรับตัวได้อย่างน่าทึ่ง ด้วยการสร้างโอกาสใหม่ในต่างประเทศ  ในเวลานั้นไม่มีใครไม่รูจักซีพี ในฐานะผู้นำอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารของไทย และมีความพยายามขยายตัวในระดับภูมิภาคอย่างจริงในฐานะธุรกิจไทยรายแรกๆ    ท่ามกลางกระแสที่กล่าวถึงซีพีว่า เป็น ธุรกิจผูกขาด มาพรอมๆกับบทบาทในฐานะผู้นำการปฏิวัติการผลิตอาหาร

 จากโมเดลที่ดูตื้นเต้นระดับภูมิภาค  ขยายตัวไปตามโมเมนตัมที่ดูเหมือนดำเนินไปอย่างดี    คงคาดไม่ถึงว่า  ซีพีซึ่งได้สร้างโมเดลธุรกิจอันน่าทึ่ง สำหรับสังคมไทยมาแล้ว จะสร่างสิ่งที่น่าทึ่งใหม่ขึ้นอีกครั้ง ในอีก 3ทศวรรษต่อมา

ในช่วงขยายตัวทางเศรษฐกิจธุรกิจครั้งใหญ่ของไทย เมื่อทศวรรษ ปี  2530   ซีพี ในฐานะธุรกิจที่มีความพร้อม กระโดดเข้าสู่ธุรกิจต่างๆอย่างหลากหลาย และดูไม่ทิศทางนักในเวลานั้น   บางคนอธิบายว่าโอกาสทางธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม่ ส่วนใหญ่มิใช่เป็นความตั้งใจ หากเป็นแรงกระตุ้นจากเหตุการณ์ ในบรรดาโครงการต่างๆนั้น รวมทั้ง การร่วมทุนกับธุรกิจค้าปลีกระดับโลก  การเข้าสู่ธุรกิจสื่อสารในสถานการณ์ที่ค้อนข้างช้า  พร้อมด้วยปัญหาทางการเมืองและการแข่งขันที่ดุเดือดเอาการ เป็นเรื่องปวดหัวมากขึ้น  เมื่อการเริ่มต้นขึ้นด้วยการลงทุนอย่างหนักได้ไม่นาน  วิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจก็ถาโถม   เป็นไปไม่ได้ที่ซีพีจะไม่ได้รับผลกระทบนั้น

 ในช่วงฝุ่นตลบหลังวิกฤติการณ์  สังคมธุรกิจไทย ต่อสู้ปรับตัว ภายใต้กติกาใหม่ของระบบเศรษฐกิจโลก   ระบบธนาคาร และสถาบันการเงินถูกกระทบมากที่สุด  โมเดลการขยายตัวด้วยเครือข่ายธุรกิจที่ใช้ธนาคารเป็นศูนย์กลาง ดูเหมือนถูกบั่นทอนไปมาก  อุตสาหกรรมต่อเนื่องขนาดใหญ่ สาละวนกับการปรับโครงสร้างธุรกิจ  ซีพีก็ทำด้วยเช่นกัน แต่ดูเหมือนดำเนินไปอย่างเงียบๆ  ไม่เป็นที่สนใจ

 เท่าที่ผมสำรวจดู  ยังไม่มีบทความใดกล่าวถึงซีพีอย่างเป็นระบบ  หลังจากสถานการณ์นั้นคลีคลายไปมาก ผมเองเขียนเรื่องเกี่ยวกับซีพีครั้งล่าสุดเมื่อปี 2545 (หนังสือ “ยุทธ์ศาสตร์เอาตัวรอด” ปี 2545  โดยเฉพาะเรื่อง”ซีพีศตวรรษที่21 ภาระสุดท้าย ธนินท์ เจียรวานนท์“) โดยเริ่มมองเห็นการปรับยุทธ์ศาสตร์ใหม่ของซีพี เป็นเงาลางๆ แต่ไม่ถึงทศวรรษจากนั้น ซีพีพัฒนาไปอย่างไม่น่าเชื่อ

 ซีพียุคใหม่ดำเนินอย่างน่าตื้นเต้น และซับซ้อนพอสมควร สำหรับผม พอจะมองเห็นยุทธ์ศาสตร์  3 ขั้น ที่ซ้อนทับกันบางช่วง แต่ท้ายสุดวันนี้ ภาพนั้นมาบรรจบกัน

 ขั้นที่หนึ่ง  ปรับยุทธ์ศาสตร์ธุรกิจเดิม

 ในเวลานั้นการปรับตัวทางธุรกิจสำหรับกิจการใหญ่ในประเทศ มักจะใช้บริษัทที่ปรึกษาระดับโลก  เป็นที่เข้าใจกันว่า  การปรับตัวหรือปรับโครงสร้างธุรกิจไทย มีเป้าหมายให้เป็นที่ยอมรับในระดับโลก ที่แท้คือเป็นที่ยอมรับของแหล่งการเงินโลก ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ในเวลานั้น  

 สำหรับซีพี ธุรกิจเดิม ได้แก่อุตสาหกรรมการเกษตร และอาหารนั้นได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์ไม่มาก การสร้างความเข้มแข็งของธุรกิจเป็นทางออกสำคัญอันดับแรก ไม่เพียงเพื่อสร้างความเข้มแข้ง หากจำเป็นสามารถเข้าไปโอบอ้มกิจการอื่นที่มีปัญหา และสร้างโอกาสใหม่ๆทางธุรกิจด้วย

แนวทางปรากฏชัดอยู่สองมิติ  หนึ่ง สร้างความโปร่งใสใน การบริหารจัดการ และการเงิน  สอง ปรับโครงสร้างจากธุรกิจการเกษตรและอาหารพื้นฐาน เข้าสู่ธุรกิจอาหารมูลค่าเพิ่ม  รวมทั้งการสร้างแบรนด์   ซีพีเลือกบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารหรือ  CPF (เดิมชื่อเจริญโภคภัณฑ์อาหารสัตว์) ซึ่งอยู่ในตลาดหุ้นไทยอยู่แล้ว เป็นแกน โดยการนำธุรกิจอาหารทั้งหมดเข้ามาอยู่เป็นเครือข่าย แน่นอนต้องใช้เวลามากมายที่เดียว   แม้ทุกวันนี้ เท่าที่ทราบแม้แต่แบรนด์ CP   ก็เพ่งเริมใช้ในประเทศอย่างจริงจัง และกำลังจะสร้างในระดับภูมิภาค โดยเริ่มที่ฮ่องกง

 ดูแล้วได้ผลมากทีเดียว เมื่อปรับโครงสร้างธุรกิจ สร้างมั่นใจระดับหนึ่ง CPF ก็สามารถเงินจากสาธารณะชนด้วยหุ้นกูไปแล้ว ประมาณสองหม่นล่านบาท เพื่อใช้ในกระบวนการนั้นด้วย      ด้านตัวเลขทางบัญชีเติบโตอย่างต่อเนื่องจากเมื่อปี2542 ยอดขายเพียง40, 000 ล้าบาท ถึงปีทีแล้วมียอดขายรวมมากกว่า 150,000ล้านบาท

  ขั้นที่สอง เข้าสู่ธุรกิจสื่อสารครบวงจร

 ผมได้กล่าวมาบ้างในตอนที่แล้ว  กลุ่มธุรกิจสื่อสารในนาม  True เป็นเครือข่ายธุรกิจครบวงจรมากที่สุดในประเทศ

การปรับโครงสร่างกลุ่มนี่ดำเนินมาในราวปี 2547 กว่าจะสร้างเครือข่าย สร้างแบรนด์ใหม่   ที่มีสินค้าชื่อ True นำหน้า อาทิ True move, True vision, True life, True money ก็ล่วงจนถึงปี2550 

แต่เดิมซีพีมีกิจการโทรศัพท์พื้นฐานที่ได้มาด้วยความยากลำบาก และยากลำบากมากขึ้นในช่วงสร้างฐานในภาวะเศรษฐกิจมีปัญหาพอดี  ดูเหมือนชีพีมีความพยายามในการสร้างเครือข่ายธุรกิจนี้มาก่อนหน้า แต่ไม่สามารถ พอเข้าช่วงวิกฤติการณ์โอกาสเปิดขึ้น  ซีพีสามารถเข้าสู่ธุรกิจทีวีบอกรับรายเดียวในปี2540 เข้าสู่ธุรกิจสื่อสารไร้สายในปี 2544 จากนั้นในกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้กิจการโทรศัพท์พื้นฐาน ก็จบด้วยด้วยการสร้างเครือข่ายธุรกิจใหม่ สร้างยุทธ์ศาสตร์ใหม่ๆ ดังที่ผมกล่าวมาแล้วในตอนที่ผ่านมา

 ขั้นที่สามเครือข่ายอันกว้างใหญ่

ในบทความของผมที่อ้างถึงเมื่อเกือบ10ปีที่แล้ว ได้เสนอภาพผู้นำกลุ่มซีพีก็พยายามเสนอไอเดียความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มธุรกิจอาหาร กับสื่อสาร บางระดับ แต่ดูยังไม่ชัดเจน แต่วันนี้ชัดมากขึ้นๆ และยิ่งมากขึ้นเมื่อมองธุรกิจอีกด้านหนึ่ง ซีพีให้ความสำคัญมากเช่นเดียวกัน นั่นคือ เครือข่ายร้าน 7-Eleven

ก่อนหน้านั้นซีพีได้ลงทุนในเครือข่ายร้านค้าปลีกระดับโลก  มีทั้ง  Makro,   7-Eleven    และ Lotus ของตนเอง แต่แล้วในการปรับโครงสร้างธุรกิจหลังวิกฤติ ซีพีขายหุ้นส่วนใหญ่ใน Lotus ให้ Tesco UK และลดการถือหุ้น ใน Makro แต่เก็บกิจการที่ดูเล็กๆ และเติบโตตามถนนรนแคมอย่างเงียบๆไว้   จากนั้นไม่นานเห็นการเติบโตของธุรกิจ พร้อมๆกับความสำคัญในจิ๊กซอร์ เชื่อมโยงธุรกิจหลักในเครือซีพีได้อย่างลงตัว

บริษัท ซี พี ออลล์ ( เพิ่งเปลี่ยนชื่อมาจากบริษัท ซี.พี. เซเว่นอีเลฟเว่น จำกัด เมื่อปี 2550) คือผู้ดำเนินกิจการร้านค้าสะดวกซ้อ7-Eleven โดยมีกิจการสนับสนุนเป็นเครื่องที่ทรงพลัง ไม่ว่า Smart card, Counter services   ระบบสารสนเทศ หรือ Logistics   บริษัทได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย จากยอดขายประมาณ30, 000 ล้านบาทเมื่อปี2546 ทะลุ แสนล้านบาทแล้วตั้งแต่ปี2549

 วันนี้ซีพี มีสินค้าและเครือข่าย ที่เข้าถึงสังคมมากที่สุด อย่างไม่มีใครปฎิเสธได้

 สินค้าและบริการในระดับผู้บริโภค   เริ่มจากอาหารพื้นฐาน อาหารกึ่งสำเร็จ และสำเร็จรูป ทั้งมีแบรนด์ และไม่มี ทั้งในตลาดแบบดั้งเดิม และ ตลาดแบบใหม่(Modern trade) สินค้าอาหารชีพีพัฒนาไปอีกขั้น ไม่เพียงครอบครองตลาดอาหารส่วนใหญ่เท่านั้น ยังครองตำแหน่งผู้นำในตลาดสินค้าคอนซูเมอร์ด้วย   อีกด้านหนึ่งมีบริการพื้นฐานของสังคมสมัยใหม่ โดยเฉพาะบริการที่สร้างระบบสมาชิกมากที่สุดในประเทศ   ครอบคลุมตั้งแต่ เครือข่ายโทรศัพท์บ้าน มือถือ ทีวีบอกรับ อินเทอร์เน็ต   ฯลฯ ระบบฐานข้อมูลนี้มีคุณค่ามากกว่า จินตนาการทางธุรกิจ

 เครือข่ายร้านค้า   สินค้าและบริการเหล่านี้ ส่วนใหญ่ต้องใช้เครือข่ายที่เป็นจริงเข้าถึงผู้บริโภค  ในความหมายที่กว้างขวางอย่างยิ่ง  หากมองเฉพาะสินค้าคอนซูเมอร์ ไม่เพียงสินค้าเป็นที่จริงและจับต้องได้ อย่าง อาหาร  แม้แต่สินค้าด้านสื่อสาร  ก็จำเป็นต้องมีเครือข่ายเชื่อมโยงทั้งสิน วันนี้เครือข่ายของซีพีไม่เพียงร้าน   7-Eleven   มากกว่า3, 000 แห่งเท่านั้น ยังมีเครือข่ายอื่นๆอีกจำนวนไม่น้อย ทั้งลักษณะ Franchise และเป็นของตนเอง เช่น     True shop, True move shop, True coffee, CP fresh mart    แม้กระทั่งร้านเคลื่อนที่ไกย่างห้าดาว

การเชื่อมโยงและเกื้อกูลระหว่างธุรกิจหลักทั้งสาม ซึ่งเป็นแกนหลักของกลุ่มซีพี ขณะนี้ ดำเนินไปเข้มข้น   ทั้งการสร้างสรรค์สินค้าและบริการ ด้วยแนวคิดข้ามพรมแดน ทั้งมิติสถานที่จริง(Places) และสถานที่ในโลกใหม่ (cyber spaces) ผสมผสานกับเทคโนโลยีสารสนเทศ และระบบการบริหารการขนส่งสินค้า (Logistics) เครือข่ายซีพีจึงเป็นโมเดลธุรกิจ สะท้อนความสามารถในแข่งขันอย่างสูง แม้แต่ในระดับโลก ในขณะเดียวกัน มีพลังและอิทธิพล ต่อชีวิตของผู้คนในสังคมไทย อย่างลึกซึ้ง ในหลากหลายมิติ อย่างไม่ต้องสงสัย

 พัฒนาการเครือซีพี ย่อมเป็นภาพสะท้อน  ประสบการณ์   แนวคิด และความสามารถของผู้นำคนสำคัญ    คนๆนั้นคือ ธนินท์ เจียรวนนท์

RELATED  STORIES

 75 ปี เครือเจริญโภคภัณฑ์

อุตสาหกรรม “ครบวงจร” ของซีพี

เครือเจริญโภคภัณฑ์ในมุมของฮาร์วาร์ด

ธนินท์ เจียรวนนท์ หาโรงเรียนให้ลูก

ซีพี ศตวรรษที่ 21 ภาระสุดท้าย ธนินท์ เจียรวนนท์

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น