เรื่องราวSingTel กับTemasek

ปรากฏการณ์ SingTelในเมืองไทยดูตื้นเต้นและดราม่ามากขั้นทุกวัน   เช่นเดียวกับTemasek แห่งสิงคโปร์อยู่ในบทสนทนาอันเร้าใจของแวดวงตลาดหุ้นอยู่พักหนึ่ง     ภายใต้เรื่องราวที่ดูตื่นเต้นนั้น แท้จริงแล้ว SingTelกับTemasek กับสังคมธุรกิจไทย มีปฏิสัมพันธ์อย่างจริงจัง เป็นเรื่องยาว และตื่นเต้นด้วยตัวเองอยู่แล้ว

ในช่วงที่ผ่านมา มีเหตุการณ์เกี่ยวข้องกับ SingTel และ Temasek หลายครั้งเหมือนเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องกัน จะด้วยความจงใจหรือบังเอิญกันหรือไม่ก็ตาม ได้จุดกระแสสนใจขึ้นมาอย่างมากอีกครั้ง

เมื่อหลายสัปดาห์ก่อน Temasek เทขายหุ้นที่ถือในกิจการในตลาดหุ้นไทยพร้อมๆกันจำนวนพอควร ส่งผลให้ตลาดหุ้นหวั่นไหว นักวิเคราะห์บอกกันว่าเป็นการส่งสัญญาณไม่พอใจรัฐบาลไทยในกรณีสัมปทานสื่อสารไร้สายของ เอไอเอส (Advance Info Service) ซึ่งถือหุ้นใหญ่โดย SingTel และ Temasek

ต่อมาหน่วยงานของรัฐได้ยื่นโนติ้สให้ เอไออเส จ่ายชดเชยสัมปทานที่อ้างว่ารัฐเสียหายหลายหม่นล้านบาทเชื่อมโยงกับกรณียึดทรัพย์อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร

กระแสความสนใจพุ่งสูงขึ้น  เมื่อภาพการเข้าพบนายกรัฐมนตรีไทยของผู้บริหารคนสำคัญ SingTelปรากฏในหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ไทย   เท่าที่ทราบ ผู้บริหารหญิง(ชื่อChua Sock Koong)คนเก่งคนนี้ของSingTel เคยได้รับการยกย่องจากนิตยสารธุรกิจระดับโลก (Fortune) ว่าเป็น The Global Power 50 ในฐานะเป็นนักบัญชี มีประสบการณ์ในการบริหารเงินโดยเฉพาะผลงานในการขยายกิจการครอบคลุมในเอเชีย

ภาพที่ออกมาอย่างชื่นมื่นSingTelประกาศยืนยันจะลงทุนในเมืองไทยต่อไป เพียงไม่กี่ชั่วโมงจากนั้น ผู้บริหารเอไอเอสได้ออกแถลงการณ์ขอโทษนายกรัฐมนตรีไทย กรณีแถลงข่าวอย่างเคร่งเครียดขอให้รัฐบาลมีความชัดเจนเรื่องนโยบายสื่อสารเมื่อปลายปีที่แล้ว   โดยอ้างว่ามีข้อความบ่างตอนที่นายกรัฐมนตรีไทยอาจเข้าใจผิด

มิติสำคัญพื้นฐานของปรากฏการณ์ผิวน้ำ  คือผลประโยชน์ทางธุรกิจของ SingTelกับ Temasek หรือวาดภาพให้ใหญ่ขึ้น คือผลประโยชน์ของสิงคโปร์ในเมืองไทย มีมากกว่าที่เราคิดไว้อย่างมากทีเดียว

SingTel กับ Temasek และธนาคารไทยพาณิชย์

ผมสนใจเรื่องราวกิจการทั้งสองของสิงคโปร์มาก่อนเหตุการณ์ใหญ่ สั่นสะทอนสังคมไทยสัก 3 ปี จากกรณี ชุมพล ณ ลำเลียง ตอนนั้นยังเป็นผู้จัดการใหญ่ เครือซิเมนต์ไทย (เอสซีจี) ได้รับการแต่ตั้งเป็นประธานกรรมการ SingTel ในปี2546

เครือซิเมนต์ไทยไม่ยอมแถลงข่าวใดๆ ในกรณีเขาเป็นประธาน Singtel ยักษ์ใหญ่สื่อสารระดับภูมิภาคที่ถือหุ้นใหญ่ โดยรัฐบาลสิงคโปร์ บางคนมองว่า ดูจะขัดแย้งกับบทบาทผู้จัดการใหญ่เครือซิเมนต์ไทย ที่เชื่อมโยงกับภาพลักษณ์สังคมไทย

Singtel ถือหุ้นใหญ่โดย Temasek Holding ซึ่งเป็นกิจการลงทุนของรัฐบาลโดยมีกระทรวงการคลังสิงคโปร์เป็นเจ้าของ Temasek ถือหุ้นในกิจการใหญ่ในสิงคโปร์ส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น Singtel Singapore Technologies Singapore Airlines DBS Bank จนถึง CapitaLand”ข้อความข้างต้นคัดมาจากคอลัมน์ “หมายเหตุธุรกิจ”เรื่อง ปูนใหญ่เล็กไปแล้ว ของผมเอง ในนิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2546

ข้อมูลพื้นฐานที่เชื่อมโยงระหว่าง SingTel กับ Temasek Holding ก็ปรากฏขึ้นในตอนนั้น   แต่โดยเนื้อแท้ความสัมพันธ์ทางธุรกิจ สิงคโปร์ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเอสซีจี หากเป็นธนาคารไทยพาณิชย์ ในฐานะที่ชุมพลเคยเป็นประธานกรรมการบริหาร และยังเป็นกรรมการต่อเนื่องมา

เมื่อเดือนมกราคมปี 2546บริษัทในเครือของ Capita Land ที่ชื่อ Primus International ซึ่งดำเนินกิจการบริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยร่วมทุนกับธนาคารไทยพาณิชย์ ทุนลดาวัลย์ (CPB Equity) บริษัทที่ดูแลการลงทุนของสำนักงานทรัพย์สินฯ กลุ่มอิตัลไทย และอิสระ ว่องกุศลกิจ (กลุ่มน้ำตาลมิตรผล) ตั้งบริษัทพรีมัส (ประเทศไทย) และแน่นอนที่สุดบริษัทนี้ได้เข้ามาจัดการบริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในเครือทรัพย์สินฯ โดยเฉพาะกลุ่มอาคารไทยพาณิชย์พลาซา ย่านรัชดาภิเษก ซึ่งถือเป็นสำนักงานบริษัทพรีมัสด้วย

ที่สำคัญมากมีอีก ธนาคารไทยพาณิชย์เพิ่งแต่งตั้งกรรมการคนใหม่ไม่นานมานี้เป็นชาวสิงคโปร์ Peter Seah Lim Huat อดีตนายธนาคารที่มีประสบการณ์มากว่า 30 ปี ปัจจุบันเป็นกรรมการคนหนึ่งของ Capita Land และเป็นประธานกรรมการบริหาร Singapore Technologies ซึ่งทั้งสองบริษัทถือหุ้นใหญ่โดย Temasek Holding ทั้งสิ้น จึงมีการคาดกันว่า ผู้ถือหุ้นของธนาคารไทยพาณิชย์มีสิงคโปร์อยู่ด้วยจำนวนไม่น้อยทีเดียว

จาก  CapitaLand กับ Temasek ถึงกลุ่มไทยเจริญ

จากนั้นไม่กี่เดือนถัดมาในปีเดียวกัน(2546) CapitaLandบริษัทในกลุ่ม Temasek ก็ลงนามร่วมทุนครั้งใหญ่กับกลุ่มไทยเจริญ หรือทีซีซี ของเจริญ สิริวัฒนภักดี ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยมุ่งเน้นพื้นที่ในกรุงเทพฯ ถือเป็นการสร้างความสัมพันธ์กับกลุ่มธุรกิจสำคัญอีกกลุ่มหนึ่งของไทย ข้อเขียนอีกชิ้นหนึ่งของผมเมื่อเร็ว ๆนี้ อรรถาธิบายกิจการสำคัญของ Temasek อีกแห่งไว้พอสังเขป

“CapitaLand เป็นกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย สำนักงานใหญ่และเป้บริษัทจดทะเบียนในประเทศสิงคโปร์ ดำเนินกิจการหลักด้านอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร โดยโฟกัสในเมืองที่กำลังเติบโตในเอเชียแปซิฟิก และยุโรป

ธุรกิจสำคัญ ประกอบด้วย ที่พักอาศัย สำนักงาน  ศูนย์การค้า   เซอร์วิส อพาร์ทเมนต์ โรงแรม  และอื่นๆที่ผสมผสานกัน  รวมทั้งความชำนาญในการบริหาร และบริการทางการเงินที่เกี่ยวเนื่อง   อยู่ใน 110  เมือง   มากกว่า  20  ประเทศ   ประกอบบริษัทย่อยที่สำคัญ ได้แก่ Australand, CapitaMalls Asia, CapitaMall Trust, CapitaCommercial Trust, Ascott Residence Trust and CapitaRetail China Trus”t

ขณะเดียวก็ฉายภาพถึงความสัมพันธ์ของบุคคลสำคัญ ด้วยการปรากฏตัวของ HO CHING ภรรยานายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ในฐานะกรรมการ (ต่อจากนั้นไม่นานก็ดำรงตำแหน่งประธรรมการบริหารด้วย)ของ Temasek กับแวดวงธุรกิจที่อ้างอิงไว้แล้วในตอนตนด้วย

ในวันลงนามสัญญาร่วมทุนในกรุงเทพฯ เมื่อปี2546 เธอมาร่วมงานด้วย (ขณะนั้นยังเป็นภรรยารัฐมนตรีคลัง) โดยมีแขกสำคัญในสังคมธุรกิจไทยมาร่วมงานอย่างคับคั่ง ที่น่าสนใจ ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย   ประธานกรรมการบริหารธนาคารไทยพาณิชย์ (ขณะนั้นเป็นที่ปรึกษา CapitaLandด้วย) ชฎา วัฒนศิริธรรม ผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ (ขณะนั้น)   และชุมพล ณ ลำเลียง ผู้จัดการใหญ่ เครือซิเมนต์ไทยหรือเอสซีจี (ขณะนั้น) คงมิใช่เรื่องบังเอิญ” (คัดมาจากเรื่อง  กลุ่มไทยเจริญ(3)สายสัมพันธ์ใหม่  )

SingTel กับ Temasek และชินคอร์ป

เรื่องราวทำให้สังคมไทยตกตะลึงพรึงเพริดที่สุดก็คือเรื่องนี้  ที่สำคัญSingTelกับ Temasek กลายเป็นที่รู้จักในสังคมไทยวงกว้างมากขึ้น

เทมาเส็ก-ไทยพาณิชย์และกลุ่มนักลงทุนไทยร่วมซื้อหุ้นชินคอร์ปจากชินวัตรและ ดามาพงศ์” นี่คือหัวข้อข่าวแถลงที่แจกจ่ายให้กับสื่อมวลชนไทย โดยที่หัวจดหมายมีโลโก้ของ Temasek Holdings และธนาคารไทยพาณิชย์ ปรากฏอย่างเด่นชัด ผมคัดมาจาก Website ของ Temasek Holdings  ซึ่งมีต้นฉบับภาษาไทยด้วย ข่าวสำคัญชิ้นนี้ ยังคงอยู่ในระบบข้อมูลข่าวสำคัญย้อนหลังที่เปิดเผยต่อสาธารณะชนอยู่จนทุกวันนี้

“กรุงเทพฯ/23มกราคม 2549 — บริษัทเทมาเส็กโฮลดิ้งส์ (พีทีอี) จำกัด (“เทมาเส็ก”) ธนาคารไทย พาณิชย์ (เอสซีบี) และกลุ่มนักลงทุนไทยในนามของบริษัทกุหลาบแก้วได้บรรลุข้อตกลงกับตระกูลชินวัตรและตระกูลดามาพงศ์ในการซื้อหุ้นของทั้งสองตระกูลในบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (“ชิน”) จำนวน 1,487.7 ล้านหุ้น หรือ 49.6% ของหุ้นทั้งหมด ในราคาหุ้นละ 49.25 บาท รวมเป็นเงิน ทั้งสิ้น 73.3 พันล้านบาท

ตามข้อตกลงการซื้อขาย บริษัทซีดาร์ โฮลดิ้งส์ ลิมิเต็ด (ซีดาร์) และบริษัทแอสเปน โฮลดิ้งส์ ลิมิเต็ด (แอสเปน) ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทยได้เข้าซื้อหุ้น จำนวน  1,158 ล้านหุ้น (38.6%) และ 329.2 ล้านหุ้น (11%)ในบริษัทชินคอร์ปตามลำดับซีดาร์เป็นบริษัทที่เทมาเส็กถือหุ้นอยู่49%และธนาคารไทยพาณิชย์ และบริษัทกุหลาบแก้วถือหุ้นในส่วนที่เหลือ51%ขณะที่แอสเปนเป็นบริษัทที่เทมาเส็กถือหุ้นแต่เพียงผู้เดียวทางอ้อมภายหลังจากการซื้อขายหุ้นครั้งนี้ชินคอร์ปจะยังคงสถานะการเป็นบริษัทที่สัดส่วนผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่เป็นคนไทย” สาระสำคัญของคำแถลงที่ไม่ได้ตัดทอน หรือแต่งเติมเลย

นอกจากนี้ข้อความที่น่าสนใจเป็นคำแถลงสั้นๆของบุคคลสำคัญในการลงนามสัญญาครั้งนี้ โดยเฉพาะฝ่ายไทยสองคนที่ผมสนใจเป็นพิเศษ  ตัดตอนยกมาโดยมิได้แต่งเติมข้อมูลอื่นใด ให้ความหมายเปลี่ยนแปลงไป

“ทางเทมาเส็กโฮลดิ้งส์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายหนึ่งของธนาคารได้เชิญธนาคารเข้ามาร่วมในการซื้อหุ้นครั้งนี้ ทางธนาคารมีความยินดีที่ได้เข้าร่วมด้วยเพราะมั่นใจในอนาคตของชินคอร์ปและพร้อมที่จะร่วมมือกับทีมบริหารและผู้ถือหุ้นที่จะทำงานเพื่อช่วยกันพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยและสร้างให้บริษัทเจริญเติบโตก้าวหน้าต่อไป”(ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานคณะกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์)

“ธุรกิจโทรคมนาคมทั่วโลกกำลังอยู่ในช่วงของการเติบโตและเปลี่ยนแปลงอย่างมากเรารู้สึกยินดีที่จะได้มีโอกาสร่วมงานกับผู้บริหารและพนักงานของชินคอร์ปที่ต่างเป็นคนที่มีประสบการณ์และมีความสามารถ เพื่อรักษาความเป็นผู้นำของบริษัททั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ”(พงส์ สารสิน ผู้ได้รับการเสนอชื่อ เป็นประธานกรรมการของชิน คอร์ป และตัวแทนของกลุ่มนักลงทุนไทย)

หลังจากนั้นประมาณ 3 เดือน (24 มีนาคม 2549) Cedar Holdingsและ Aspen Holdings ซึ่งถือเป็นกิจการถือหุ้นโดย Temasek ธนาคารไทยพาณิชย์ สุรินทร์ อุปพัทธกุล และผู้ถือหุ้นฝ่ายไทยอื่นๆออกแถลงข่าวผ่านWebsite ของ Temasek Holdings ว่าได้บรรลุความสำเร็จในการเสนอหุ้นของเอไอเอส ต่อผู้ถือหุ้นรายย่อยผ่านกระบวนการในตลาดหุ้นไทยเสร็จเรียบร้อยแล้ว  ถือว่าเป็นแผนสำคัญต่อเนื่องจากการซื้อกิจการชินคอร์ป โดยมีเป้าหมายสำคัญเข้าสู่ธุรกิจสื่อสารไร้สายของไทยซึ่งถือเป็นธุรกิจเติบโตและมีอนาคตมาก ได้เข้าเป็นเจ้าของกิจการสื่อสารไร้สายใหญ่ที่สุดของไทยเรียบร้อยแล้ว

จากข้อมูลปัจจุบันอย่างเป็นทางการของเอไอเอสระบุว่า ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 2 รายคือ Shin Corp.42.6% และ SingTel Strategic Investments 21.31% ขณะที่ Shin Corp เองมีผู้หุ้นใหญ่ 2 รายคือ Cedar Holdings และ Aspen Holdings ถือหุ้นรวมกันประมาณ 96%

เรื่องราวนี้จุดประเด็น สร้างความกระเพื่อมทางการเมืองไทยอย่างมาก ขณะเดียวเป็น“คลื่นใต้น้ำ”ที่แรงเอาการเขย่าสังคมธุรกิจไทย โดยเฉพาะในกิจการร่วมทุนกับธุรกิจต่างประเทศ รวมไปจนถึงธนาคารไทยพาณิชย์อย่างช่วยไม่ได้

จากนั้นบุคคลสำคัญที่เปิดตัวอย่างครึกโครมถึงความสัมพันธ์กับสิงคโปร์ก็ค่อยๆหลบฉาก ตั้งแต่พงส์ สารสินประธานกรรมการชินครอ์ป  ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัยก็พ้นตำแหน่งที่ปรึกษาCapitaLand และกรรมการในชินคอร์ป รวมทั้ง Peter Seah Lim Huat กรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ที่มีความเชื่อมโยงกับTemasek Holdings   ก็พ้นตำแหน่งไปด้วย

มีเพียงชุมพล ณ ลำเลียง เท่านั้น ยังดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ SingTel ต่อไปจนถึงทุกวันนี้   แม้เขาจะพ้นตำแหน่งผู้จัดการใหญ่เอสซีจีไปแล้ว แต่ก็ยังดำรงตำแหน่งกรรมการทั้งเอสซีจี และธนาคารไทยพาณิชย์ และวงในยังเชื่อกันว่า เขามีบทบาทสำคัญต่อทั้งสองกลุ่มธุรกิจในเชิงยุทธ์ศาสตร์มากขึ้น

บุคคลที่ช่างสังเกตบอกว่า ในเวลาจากนั้นไม่นาน ผู้บริหารเอสซีจีที่เคยทำงานกับชุมพลและเพิ่งเกษียณอายุก่อนกำหนดออกมา โดยยังดำรงตำแหน่งกรรมการหรือที่ปรึกษาในกิจการทั้งเอสซีจีและธนาคารไทยพาณิชย์อยู่ด้วยนั้น ได้ทยอยเข้ามาเป็นกรรมการทั้งชินคอร์ป และเอไอเอส เท่าที่นับได้ตอนนี้มี 3 คน ผมไม่อาจทึกทักถึงความเชื่อมโยงโดยตรง แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ   อย่างไรก็ตามขอละเรื่องนี้ไปสู่เรื่องที่จริงจังและควรสนใจมากกว่า

เรื่องราวความสัมพันธ์ทางธุรกิจTemasek Holdings และผลประโยชน์สิงคโปร์ในสังคมไทย ที่น่าสนใจ และยังไม่ใคร่เป็นที่เปิดเผยมากนัก ยังมีอีกมากมาย จะขอขยายความในตอนต่อไป

เรื่องราวเหล่านี้ก็เพียงอีกตอนหนึ่งจาก 2 ตอนก่อนหน้านั้น (China และ Cambodia Connection) อาจสะท้อนบุคลิกสังคมยุคใหม่ที่ไม่สามารถอาจแยกตัวหรือสร้างคุณค่าแห่งความเป็นชาติด้วยความลุ่มหลงเช่นอดีตได้อีกแล้ว

 

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

One thought on “เรื่องราวSingTel กับTemasek”

  1. ข้อมูลเพิ่มเติมที่ได้รับแจ้งจากธนาคารไทยพาณิชย์

    ตามที่ท่านได้เขียนบทความ “เรื่องราว Singtel กับ Temasek” ในนิตยสารมติชน สุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 11-17 กุมภาพันธ์ 2554 ซึ่งในเนื้อความได้ระบุถึง บริษัท พรีมัส อินเตอร์เนชั่นแนล และบริษัท พรีมัส (ประเทศไทย) จำกัด และ อดีตกรรมการธนาคาร นายปีเตอร์ เซียะ ลิมฮวด ซึ่งเป็นข้อมูลในอดีต ธนาคารจึงขอเรียนชี้แจ้งข้อมูลปัจจุบัน ดังนี้

    1) บริษัท พรีมัส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และ บริษัท พรีมัส (ประเทศไทย) จำกัด

    ในปี พ.ศ. 2548 ได้มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท พรีมัส (ประเทศไทย) จำกัด โดยทางกลุ่ม Capital Land ได้ขายหุ้นของบริษัท พรีมัส (ประเทศไทย) จำกัด ในส่วนที่ถือครองทั้งหมดโดยบริษัท พรีมัส อินเตอร์เนชั่นแนล ออกไปให้แก่บริษัทในเครือของ United Group ประเทศ Australia ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการให้บริการบริหารทรัพย์สิน ทั้งนี้ รายละเอียดของบริษัท พรีมัส (ประเทศไทย) จำกัด ปรากฏตามเว็บไซด์ของบริษัท http://www.premas.co.th

    2) เรื่องวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการธนาคาร

    ธนาคารขอเรียนว่า นายปีเตอร์ เซียะ ลิมฮวด ได้ดำรงตำแหน่งกรรมการธนาคารตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2542 และหมดวาระลงตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2552

ใส่ความเห็น