จุดเริ่มต้นจากน้ำมันปาล์ม

ในความพยายามจะมอง  “วิกฤติการณ์น้ำมันปาล์ม” ในเชิงระบบ โมเดลและกลไกของธุรกิจ อุตสาหกรรมและเกษตรกรรม มากกว่าความพยายามวิเคราะห์เชื่อมโยงทางการเมือง เรื่องราวในอีกมิติหนึ่งที่สำคัญ จากนี้ไป ดูเหมือนจะมีสีสัน เร้าใจไม่แพ้กัน

จุดเริ่มต้นที่น่าสนใจและจับต้องได้ดี มาจากรายงานข่าวเกี่ยวกับ “10 บริษัทที่ได้รับโควตาจัดสรรน้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์ ที่นำเข้าจากประเทศมาเลเซียล็อตแรก 30,000 ตัน” (มติชนออนไลน์www.matichon.co.th   22 กุมภาพันธ์ 2554) พอจะเห็นภาพลงลึกระดับธุรกิจ สอดคล้องแนวทางอรรถาธิบายความเป็นไปของบทความนี้ ผมพอจะรู้จักและมีข้อมูลบริษัทสำคัญเหล่านี้บ้าง มากบ้างน้อย แล้วแต่กรณี รวมทั้งกับอีกบางบริษัทเกี่ยวข้องกันนอกเหนือจากลิสต์นี้ พอจะนำมาประมวลและมองเห็นภาพใหญ่บางภาพที่น่าสนใจ

บริษัทสำคัญรายการข้างต้น ล้วนเป็นเจ้าของสินค้าที่มีแบรนด์สินค่าบรรจุขวดอยู่ในตลาดผู้บริโภค  โดยเฉพาะบริษัท น้ำมันพืชปทุม( เจ้าของน้ำมันพืช เกสร)บริษัท ล่ำสูง (ประเทศไทย) เจ้าของแบรนด์ หยก ) บริษัท โอลีน เจ้าของแบรนด์โอลีน )    บริษัท มรกต อินดัสตรี้ส์ เจ้าของแบรนด์ มรกต )  กิจการเหล่านี้มีลักษณะเป็น “ตัวแทน”ของทั้งระบบ ในฐานะกิจการรายใหญ่ มีความเชื่อมโยงเป็นวงจร จากการเกษตร อุตสาหกรรม จนถึงกิจกรรมทางการตลาดผู้บริโภคสมัยใหม่ และตลอดวงจรนี้มีเรื่องราวสัมพันธ์กับหลายมิติในสังคมไทย

วงจรสินค้า

เท่าที่จำได้บริษัทยูนิวานิช ถือเป็นผู้บุกเบิกปลูกปาล์มอย่างขนาดใหญ่(Plantation) รายแรกๆของเมืองไทย ในฐานะกลุ่มธุรกิจเก่าแก่และใหญ่ในภาคใต้ เริ่มต้นจากเหมือนแร่ ไปสูการพลิกผืนดินเป็นการเกษตรขนาดใหญ่ เพื่อผลิตน้ำมันปาล์มป้อนตลาดอุตสาหกรรม (ในกระบี่และสุราษฎร์ธานี) ในขั้นปลายน้ำต่อไป   การปลูกปาล์มและมีโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม เพื่อป้อนเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตสินค้าอุปโภค ในกรณีนี้ลูกค้ารายใหญ่ก็คือยูนิลีเวอร์ (ประเทศไทย) ซึ่งมีฐานการผลิตและจำหน่ายสินค้าคอนซูเมอร์ในประเทศไทยมายาวนาน

“บริษัท ยูนิวานิชน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) เป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมการปลูกปาล์มน้ำมันในประเทศไทยที่สร้างผลงานมานับ ตั้งแต่เริ่มปลูกปาล์มครั้งแรกในปี 2512 ปัจจุบันยูนิวานิชเป็นหนึ่งในผู้นำในการผลิตของประเทศ และเป็นผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ น้ำมันเมล็ดในปาล์มดิบรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย”ข้อมูลปัจจุบันกลุ่มนี่ยังอยู่ในฐานการผลิตขั้นต้นอย่างมั่นคงต่อไป (http://univanich.com/investor.html )

พัฒนาการของยูนิวานิชคล้ายๆกับการเริ่มต้นของLamsoon Group แห่งสิงคโปร์ เริ่มต้นจากการผลิตสินค้นคอนซูเมอร์ ก่อนจะมีแรงบันดาลใจสร้างเครือข่ายการผลิตปาล์มน้ำมันขนาดใหญ่ในเมาเลเซีย และขยายกิจการครบวงจรทั่วทั้งภูมิภาครวมทั้งประเทศไทยด้วย เพียงแต่ว่ายูนิวานิชผลิตวัตถุดิบป้อนผู้ผลิตรายอื่น ขณะที่ Lamsoon   เป็นเครือข่ายครบวงจรของตนเอง

การผลิตนำมันปาล์มในฐานะสินค้าเพื่อบริโภคในเมืองไทยอย่างจริงจัง เริ่มต้นในราวปี 2527 ในช่วงการปลูกและผลผลิตมากขึ้น จนรัฐบาลต้องประกาศยุติการน้ำเข้าน้ำมันปาล์มจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมภายในประเทศ จากนั้นน้ำมันปาล์มบรรจุขวดเพื่อบริโภคพยายามอย่างเต็มกำลัง เข้าแทรกตลาดน้ำมันปรุงอาหารเดิม

การต่อสู้แข่งขันทางธุรกิจระหว่างน้ำมันพืชชนิดอื่นกับน้ำมันปาล์มในช่วงนั้น ถือว่าดุเดือดมากทีเดียว  หัวหอกของฝ่ายน้ำมันปาล์มที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดในตอนนั้น   ประกอบด้วย  น้ำมันพืช มรกต  ซึ่งมีตำนานในประเทศไทย ประหนึ่งภาพยนตร์ชีวิตเรื่องยาว   น้ำมันพืชโลตัสของยูนิลิเวอร์ ซึ่งนำวัตถุดิบมาจากยูนิวานิชในตอนนั้นถือเป็นกิจการร่วมทุนระหว่างตระกูลวานิชกับยุนิลิเวอร์แห่งอังกฤษ  และน้ำมันพืชหยกของบริษัทล่ำสูงในประเทศไทย  กว่าตลาดจะยอมรับเป็นสินค้าบริโภค ในฐานะสินค้าราคาถูกกว่าน้ำมันพืชชนิดอื่น  ได้ใช้เวลาไปประมาณ 5ปี ซึ่งดูเหมือนเป็นวงจรสุดท้ายอันน่าทึ่ง –สินค้าเกษตรพื้นฐานชนิดหนึ่งของสังคมไทย พัฒนามาจากการเกษตร สู่อุตสาหกรรมและการสร้างแบรนด์เป็นสินค้าคอนซูเมอร์

หลายกิจการเริ่มนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงต้นของตลาดหุ้นเติบโตครั้งใหญ่ในช่วงก่อวิกฤติการณ์(มรกตปี2533 สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มปี 2534   ชุมพรน้ำมันปาล์มปี 2536 ล่ำสูงปี2539 และยูนิวานิชปี2546)   ถือเป็นการพัฒนาธุรกิจ ข้ามผ่านยุคบุกเบิกไปไกลพอสมควรแล้ว

คงไม่ใครคิดว่าปลายทางของสินค้าเกษตรนี้จะไปไกลมากกว่านี้ อีก สู่พลังงานซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากทั้งปัจจุบันและอนาคต

บริษัทน้ำมันพืชปุทมก่อตังมาตั้งแต่ปี 2518เข้าใจว่าเริ่มต้นผลิตน้ำมันมะพร้าวและปรับตัวแปรตามวัตถุดิบในตลาด ปัจจุบันประกาศตัวเองเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ โดยมีสโลแกนว่า Best in Palm oil ล่าสุดในปี2549 ก็ขยายธุรกิจเข้าสู่การผลิตไบโอดีเซล เป็นกิจการที่ขยายกิจการรากฐานใกล้เคียงกัน ท่ามกลางธุรกิจอื่นที่กระโดดร่วมวงธุรกิจผลิตไบโอดีเซลอีกจำนวนมาก

เป็นไปตามกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อลดภาวะโลกร้อน ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ชีวภาพมากกว่าผลิตภัณฑ์จากปิโตรเคมี –ไบโอดีเซลถือเป็นแหล่งพลังงานทางเลือกทดแทนน้ำมันดีเซล โดยเชื่อมั่นประเทศไทยในฐานะประเทศเกษตรกรรม จะสามารถผลิตอาหารบริโภคในประเทศได้เพียงพอและมีอุปทานส่วนเกินเหลือพอที่จะส่งออก จึงมีความได้เปรียบในการพัฒนาพืชพลังงาน

 “ข้อจำกัดที่สำคัญในการนำน้ำมันปาล์มมาผลิตไบโอดีเซลอยู่ที่ปริมาณและราคาของน้ำมันปาล์ม ซึ่งหากราคาของน้ำมันปาล์มดิบทรงตัวอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง อาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาได้แก่ 1. ผู้ผลิตไบโอดีเซล จะหยุดการผลิต 2. การที่ต้นทุนของไบโอดีเซลอยู่ในระดับสูงจะไม่สอดคล้องกับแนวทางการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน รวมถึงต้นทุนการผลิตน้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภคก็จะสูงขึ้นด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังอุตสาหกรรมอาหาร3. หากไม่เปิดตลาดการค้าเสรี AFTA ราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศที่สูงขึ้น จะสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มจากต่างประเทศ4. เกิดอุปสรรคในการจำหน่ายไบโอดีเซล  ซึ่งได้ประกาศเป็นกฎหมายมีผลใช้บังคับไปแล้ว” นี่คือบทวิเคราะห์ที่คาดการณ์ไว้น่าสนใจของบริษัทล่ำสูง (ประทศไทย) ในรายงานประจำปี 2552

วงจรธุรกิจ

บริษัทยูนิวานิช ฐานะผู้บุกเบิกวงจรขั้นต้นธุรกิจปาล์มน้ำมัน  เริ่มวางรากฐานธุรกิจอย่างจริงจัง  ด้วยความร่วมทุนกับยูนิลิเวอร์ ในช่วงปี 2526 ถึง 2541   ในตอนนั้นเครือข่ายธุรกิจยูนิลิเวอร์ทั่วโลก ยังมีเครือข่ายธุรกิจครบวงจรจากการเกษตรปาล์มน้ำมันขนาดใหญ่ สู่โรงงานและการจำน่ายน้ำมันพืชในแบรนด์ตนเอง   ในภูมิภาคนี้เครือข่ายสำคัญอยู่ในมาเลเซีย ในตอนนั้นยูนิลิเวอร์มีบทบาทสำคัญช่วงต้นในการนำน้ำมันพืชปาล์มเข้าสู่ตลาดผู้บริโภค   ต่อมาเมือยุนิลิเวอร์ปรับยุทธ์ศาสตร์ถอนตัวออกจากธุรกิจนี้ในชอบเขตทั่วโลก ยูนิวานิชจึงกลายเป็นของตระกูลวานิชอย่างเต็มที่

ส่วนตำนานของมรกตนั้นเร้าใจอย่างมาก เริ่มต้นจาก บริษัทไทยเม็กซ์ อินดัสตรี้ส์ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2524 จากการร่วมทุนระหว่างนักธุรกิจไทยกับมาเลเซีย

ปาล์มโก้ (PALMCO HOLDINGS BERHAD) เป็นกลุ่มที่ทำธุรกิจผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในมาเลเซีย โดยเริ่มจากธุรกิจน้ำมันมะพร้าว จนขยายมาเป็นน้ำมันปาล์ม นอกจากธุรกิจที่เกี่ยวกับน้ำมันปาล์มแล้ว กลุ่มปาล์มโก้ยังมีธุรกิจอีกหลายแขนง อย่างเช่นธุรกิจทางด้านเรียลเอสเตท ปัจจุบันปาล์มโก้ก็เป็นหนึ่งในบริษัทจดทะเบียนของตลาดหลักทรัพย์มาเลเซียด้วย เข้ามาร่วมทุนกับนักธุรกิจตระกูลอัศวนนท์ ในขณะนั้นมีอนุตร์ อัศวนนท์ ผู้บริหารของธนาคารไทยมีบทบาทสำคัญ

เครือข่ายของธุรกิจตามสูตรต้องมีสวนปาล์มของตนเองขึ้น(สุราษฎร์ธานี)และมีโรงงานสกัด(สตูล)ในพื้นที่ภาคใต้ถือเป็นแหล่งผลิตสำคัญ  สอดคล้องกับรัฐบาลไทยพยายามปิดการนำเข้าน้ำมันปาล์ม  

ต่อมาไม่นากลุ่มปาล์มไก้ถอนตัวออกไป เนื่องจากมีความขัดแย้งในธุรกิจครอบครัว กลุ่มอัศวนนท์ ซื้อหุ้นมาเกือบทั้งหมด   พยายามพัฒนาสินค้าน้ำมันบรรจุขวดมรกต แล้วเปลี่ยนเป็นบริษัทมรกต เพื่อนำเข้าตลาดหุ้นในช่วงขาขึ้นสำคัญ

สถานการณ์กลับพลิกผันอย่างมากในช่วงตลาดหุ้นบูม  เต็มไปด้วยขบวนการซื้อขายกิจการในที่สุด  บริษัทถูกซื้อกิไปโดยนักลงทุนจากตะวันออกกลาง ซึ่งความเกี่ยวข้องกับกรณีราเกซ สักเสนา และนักการเมืองไทยหลายคน   เป้นราคาที่ดีพอสมควร กว่าสองพันล้านบาท โดยไม่มีใครเชื่อนักลงทุนรายนั้นจะมีความรู้ความชำนาญในอุตสาหกรรมที่เพิ่งเกิดไม่นานในประเทศไทย ในที่สุดต้องขายไปให้กลุ่มSime Darby    แห่งมาเลเซีย ซึ้งถือหุ้นใหญ่ในปัจจุบัน ส่วนตระกูลอัศวนนท์ได้กลับไปเริ่มต้นธุรกิจเดิม นามบริษัทโอลีน ถือเป็นคู่แข่งรายหนึ่งของมรกตในเวลาต่อมา

Sime Darby กลุ่มธุรกิจระดับโลก มีฐานในมาเลเซียก่อตั้งโดยชาวอังกฤษในยุคอาณานิคม ปัจจุบันเครือข่ายธุรกิจแขนงสำคัญ ประกอบด้วยอสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ เครื่องจักรกล และกลุ่มธุรกิจที่เรียกว่า Sime Darby Plantation โดยมีเครือข่ายธุรกิจทั่วโลกมากกว่า20 ประเทศ

Sime Darby Plantation เป็นกิจการดั้งเดิม ขยายเครือข่ายทั้งภูมิภาคโดยเฉพาะธุรกิจต้นน้ำ (upstream) เครือข่ายการปลูกปาล์มทั้งในมาเลเซียและอินโดนิเชียมากกว่า500, 000เฮกเตอร์ มีโรงงานสกัดมากกว่า63 แห่ง   ส่วนปลายน้ำ (downstream) มิกิจการทั่วโลกมากว่า 15ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย

อีกรายหนึ่งที่สำคัญก็คือ Lamsoon Group ธุรกิจสินค้าคอนซูเมอร์รายใหญ่ฐานอยู่ที่สิงคโปร์ เข้ามาเมืองไทยอย่างมีระบบมาก และให้ความสำคัญมากพอควร ตามแบบฉบับของบริษัทสิงคโปร์ เริ่มต้นก้าวเข้าสู่ระดับภูมิภาคอย่างเป็นกระบวน เริ่มต้นจากกิจการผลิตสินค้าสำเร็จรูปในสิงโปร์โดยใช้เวลาเรียนรู้และพัฒนาประมาณ 2ทศวรรษ จึงขยายกิจการตั้งโรงงานสกัดน้ำมันเข้าสู่อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร พร้อมกับการวางรากฐานจากต้นน้ำในการเกษตรกรรมสวนปาล์ม จากนั้นขยายเครือข่ายธุรกิจครอบคลุมภูมิภาค สู่มาเลเซีย   ฮ่องกง เวียดนาม และไทย

บริษัท ล่ำสูง (ประเทศไทย) ได้จดทะเบียนก่อตั้งเป็นบริษัทจำกัด ในเดือนกันยายน 2517 ประกอบธุรกิจหลักในด้านการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์ม, ไขมันพืชผสม และเนยเทียม  โดยมีโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบตั้งอยู่ที่จังหวัดตรัง โรงกลั่นน้ำมันปาล์ม ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมบางปู  ทั้งถือหุ้นใหญ่ในบริษัทสหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) หรือ UPOIC ซึ่งดำเนินกิจการปลูกปาล์มน้ำมัน โดยมีโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบและโรงงานสกัดน้ำมันเมล็ดในปาล์ม มีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน 44,440 ไร่  มีผลิตภัณฑ์หลัก คือ น้ำมันปาล์มดิบ และ น้ำมันเมล็ดในปาล์มดิบ โดยที่ UPOIC นับเป็นผู้จำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบรายหลักให้กับบริษัทล่ำสูง(สรุปความจาก  www.lamsoon.co.th )

ภายใต้วงจรธุรกิจ หลายขั้นตอน  ด้วยความควบคุม กลไก และราคาของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ขณะเดียววงจรของธุรกิจในประเทศไทย ถูกกำกับอีกชั้นหนึ่งโดยเครือข่ายธุรกิจระดับโลก  ในอุตสาหกรรมเครือข่ายใหญ่ในมาเลเซีย (อาจรวมสิงคโปร์ด้วย) ถือเป็นผู้นำธุรกิจระดับโลกในอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม โดยพิจารณาภูมิศาสตร์มาเลเซีย  และอินโดนิเชีย สามารถผลิตรวมกันได้มากว่า  80%ของปริมาณน้ำมันปาล์มทั่งโลก ยังไม่นับรวมเครือข่ายครอบคลุมทั้งภูมิภาค รวมทั้งเมืองไทย   ย่อมเป็นไปได้ว่ากลุ่มธุรกิจระดับโลกที่ว่านั้น มีความสามารถควบคุมกลไกตลาดได้มากกว่ารายอื่นๆ และบทบาทจะมากขึ้นอีก เมื่อการเปิดการค้าเสรี (AFTA) ทำงานอย่างเต็มที่ในช้านี้

ประเทศไทยเป็นเพียงแหล่งผลิตที่กำลังพยายามขยายตัว   ในระดับตลาดที่กว้างกว่าตนเอง แล้วไม่มีพลังในวงจรธุรกิจนี้ก็ว่าได้  ขณะที่อำนาจรัฐในการควบคุมกลไกราคาจะมีประสิทธิภาพลดลงไปเรื่อยๆ

ราคาอาหาร

ความเป็นไปของวงจรการผลิตน้ำมันปาล์ม เป็นภาพสะท้อนใหม่ของเกษตรกรรม  ซึ่งเป็นรากฐานการผลิตอาหารด้วย  วงจรจากรากฐานเกษตรกรรมที่มีขั้นตอนมากขึ้น ซับซับซ้อนมากขึ้น หรือสร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้น  เป็นแนวโน้มสำคัญว่ามีผู้เล่นรายใหญ่เข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น(ประเด็นนี้ผมเคยเสนอมาหลายครั้ง)  ขณะเดียวกับความผันผวนด้านราคาก็มีมากขึ้นด้วย

ปัญหาส่วนย่อยของสังคมไทยปัจจุบันที่ว่า  การเมืองอาจมีส่วนทำให้ราคาอาหารแพงมากขึ้น จะเป็นปรากฏการณ์ขั้นจังหวะเท่านั้น ในทิศทางใหญ่อาจจะเป็นว่า ราคาอาหารจะยกระดับขึ้นอีกขั้นใหญ่ แล้วก่อปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองในมิติที่กว้างขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน

 สัญญาณนี้นับวันจะชัดเจนมากขึ้น

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น