อิตาเลียนไทย(2)

เรื่องราวความอยู่รอดและการปรับตัวของกลุ่มบริษัทอิตาเลี่ยนไทย  มีความสัมพันธ์กับความผันแปรของสังคมไทยในช่วงกึ่งศตวรรษอย่างน่าสนใจ ถือเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับธุรกิจที่มีลักษณะอ่อนไหวเป็นพิเศษ

หลายคนมองธุรกิจรับเหมาก่อสร้างด้วยความคิดอย่างง่ายๆ   หนึ่ง-เป็นธุรกิจที่หาประโยชน์จากเส้นสาย มักจะเป็นจุดเริ่มต้นจากผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น จากนั้นสะสมทุน บางรายสามารถก้าวข้ามไปสู่ธุรกิจอื่น และสู่ระดับชาติได้

สอง-เป็นธุรกิจทีมีโครงสร้างและกลไกอย่างง่ายๆ  ว่าด้วยการตั้งราคา  การจ่ายใต้โต๊ะ  โดยไม่พยายามมองคุณค่าเชิงความรู้ ความชำนาญและโมเดลธุรกิจที่แวดล้อม

ผมขอเพิ่มเติมขึ้นอีกบางประเด็น ซึ่งจะถือเป็นมุมมองง่าย ๆก็ได้ สาม- ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างต้องปรับตัวแปรตามการเปลี่ยนแปลงของอำนาจรัฐ  โครงการก่อสร้างส่วนใหญ่ ไม่ว่าเมืองไทย หรือระดับโลกย่อมสัมพันธ์กับรัฐทั้งสิ้น  ว่าในบางมุมย่อมเป็นธุรกิจที่ต้องอาศัยเส้นสายหรือสายสัมพันธ์มากแป็นพิเศษ ขณะเดียวก็เป็นธุรกิจธรรมดาที่ไม่ได้รับคุ้มครองเป็นพิเศษ เช่นบางธุรกิจ  จึงความเสี่ยง ความอ่อนไหวต่อความอยู่รอดมากกว่าปกติด้วยซ้ำ  สี่-ในภาพใหญ่เป็นธุรกิจทีมีการแข่งขันอย่างเสรี มากกว่าปรากฏการณ์”ฮั้ว”กันบางครั้งบางคราว โดยมีระดับของธุรกิจต่างๆกัน จากท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับโลก   แต่ละระดับ เป็นกำแพงและข้อจำกัดของโอกาสและการเติบโต

ผมประเมินธุรกิจนี้ แตกต่างจากมุมมองทั่วไป โดยให้ความสำคัญกับความรู้ ความชำนาญ และโมเดลธุรกิจ  รวมทั้งการปรับตัว ซึ่งสะท้อน ความเข้าใจ ความสัมพันธ์กับบริบททางสังคม  โดยเฉพาะกรณี บริษัทอิตาเลียนไทย ถือเป็นธุรกิจในอุตสาหกรรมก่อสร้างที่ก้าวหน้า และมีทุนความรู้ ตามแนวคิดของผม เช่นเดียวกับบางกรณีที่เคยกล่าวไว้อย่างไม่ปิดบังมาก่อนหน้า

“การอรรถาธิบายยุทธศาสตร์ CPB ในปัจจุบัน มีความซับซ้อนมากพอควร คำว่า “ทุน” ตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองที่นิยมใช้กันมาตั้งแต่ 25 ปีที่แล้ว คงจะไม่สามารถทำให้เรื่องนี้น่าสนใจ และสมเหตุสมผลได้เท่าที่ควร แนวคิดว่าด้วย “ทุน” ที่มีพัฒนาการอย่างมาก ควรให้ความสำคัญกลไกซับซ้อน การจัดการ และองค์ความรู้ และโดยเฉพาะการพัฒนาทางเทคโนโลยี ที่สำคัญทุนมีพลวัตสัมพันธ์กับระบบสังคมเศรษฐกิจ ตั้งแต่ระดับชุมชน ภูมิภาค และระดับโลก แนวคิดนี้น่าจะสอดคล้องกับสภาพสังคมไทยปัจจุบัน มิฉะนั้นคงเป็นเรื่องยากที่จะตอบคำถามได้อย่างครอบคลุม” แนวคิดนี้(จากบทความ”ทุนแห่งความรู้”)มาจากข้อสังเกตของผม วิจารณ์งานวิจัยเกี่ยวกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (CPB) ของจุฬาฯ ในวงแคบๆ เมื่อปลายปี2548

ช่วงสงครามเวียดนาม

ปี 2489 น.พ.ชัยยุทธ-แบร์ลิงเจียรี ร่วมก่อตั้งบริษัทอิตัลไทยอุตสาหกรรมจำกัด อันเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความร่วมมือระหว่างนักธุรกิจอิตาเลียนกับนักธุรกิจไทย (ผมเข้าใจผู้อ่านส่วนใหญ่อานเรื่องราวประวัติตอนนี้จาก  ARCHIVE–น.พ.ชัยยุทธ กรรณสูต กับอิตัลไทยกรุ๊ป จึงไม่ฉายซ้ำอีก)จากเคยร่วมมือกันรับเหมางาน มาเริ่มต้นธุรกิจอย่างจริงจัง –ธุรกิจการค้า โดยการนำสินค้าจากยุโรปเข้ามาขายเป็นหลัก โดยเฉพาะสินค้าที่สังคมไทยยุคพัฒนาสาธารณูปโภคต้องการ–สินค้าเทคโนโลยีและวิศวกรรม

จากนั้นปี 2501 บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเม้นท์ (ไอทีดี) ก็เกิดขึ้น กระโจนเข้าสูธุรกิจก่อสร้าง ในช่วงเวลาที่เหมาะกับยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์   ช่วงเปิดประเทศต้อนรับสหรัฐอเมริกา เข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างขนานใหญ่ รวมทั้งการพัฒนาด้าน infrastructure ในช่วงสงครามเวียดนาม และการปราบปรามคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย เป็นเหตุหนึ่งกระตุ้นการพัฒนาสาธารณูปโภค งบประมาณของรัฐและความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ ทุ่มไปในการสร้างถนนหนทางสายยุทธศาสตร์

สำหรับในมุมมองเชิงธุรกิจแล้ว อิตาเลียนไทย—ธุรกิจก่อสร้าง    มาจากความพยายามขยายธุรกิจแบบสร้างมูลค่าต่อเนือง (Diversified) จากธุรกิจการค้า สู่ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ว่าไปแล้วเป็นโมเดลธุรกิจระดับโลกที่ถ่ายทอดมาจากความรู้ในธุรกิจร่วมทุนนั่นเอง ซึ่งถือเป็นแนวทางที่ดีและประสบความสำเร็จ จนกลายเป็นธุรกิจหลักของกลุ่มและเป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ที่สุดของไทย โดยใช้เวลาเพียง2 ทศวรรษ

วิกฤติการณ์เศรษฐ์กิจรอบแรก

ห้วงเวลาปี 2522-2526 อิตาเลียนไทย เผชิญปัญหามากมาย ทั้งระดับธุรกิจ และสถานการณ์ที่ไม่เป็นผลดี

เริ่มต้นตั้งแต่ปัญหาการบริหารงาน หลังจากการเสียชีวิตของเอกชัย กรรณสูต บุตรชายหมอชัยยุทธ กรรณสูต ผู้ถูกวางตัวเป็นทายาท  และจีออร์จีโอ แบร์ลิงเจียรี ผู่ร่วมก่อตั้งในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและมองทะลุโมเดลธุรกิจ

และที่สำคัญภาพใหญ่ สภาพธุรกิจก่อสร้างได้เริ่มเปลี่ยนโฉมหน้าไป  นั่นคือการเข้ามาของบริษัทก่อสร้างยักษ์ใหญ่ต่างประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่น   ในช่วงหลังสงครามเวียดนาม หลังสหรัฐฯลดอิทธิพลไป ขณะที่ญี่ปุ่นเข้ามาแทน จากความร่วมมือ ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ เงินกู้ และการเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมพื้นฐาน

เท่านั้นยังไม่พอ มีการลดค่าเงินบาทหลายครั้ง มาจากวิกฤติการณ์ที่ต่อเนื่องจากวิกฤติการณ์น้ำมัน ตลาดหุ้นในภูมิภาค  สังคมธุรกิจไทยมีปรับตัวครั้งใหญ่ครั้งหนึ่ง  ถือเป็นบทดสอบผู้มีรากฐานไม่มั่นคง  ปลายปี 2527 อิตาเลียนไทยฯ ขาดทุน จาการลดค่าเงินบาทมากทีเดียว

ท่ามกลางวิกฤติการณ์ มีโอกาสเสมอ กรณีนายแพทย์ชัยยุทธ กรรณสูต เช่นเดียวกัน ต่อมาเมื่อหุ้นส่วนต่างชาติเสียชีวิต กิจการร่วมทุนจึงกลายเป็นธุรกิจครอบครัวของตระกูลกรรณสูต  แต่เผอิญเป็นธุรกิจครอบครัว มีความรู้และประสบการณ์วกว้างขวางพอสมควร  โดยเฉพาะมิได้จำกัดตัวเองอยู่ในนิยามของผู้รับเหมาก่อสร้าง  หรือทำงานเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น ต้องยอมรับว่าในเวลานั้น อิตาเลียนไทยได้ออกไปรับงานต่างประเทศบ้างแล้ว

ที่สำคัญแผนใหญ่ทางเศรษฐกิจกำลังเดินหน้าเวลานั้นพอดี การพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีครั้งใหญ่ อย่างเป็นระบบ ในชายฝั่งทะเลตะวันออก สำหรับอิตาเลียนไทย คือเดิมพันใหม่  พยายามยกระดับตัวเองเพื่อทั้งการต่อสู้กับธุรกิจก่อสร้างระดับโลก ทั้งมีส่วนร่วมและยกระดับความสามารถของกิจการสู่งานที่ซับซ้อนมากขึ้น

“เดือนเมษายนปี 2528 วงการอุตสาหกรรมก่อสร้าง “ช็อก” กันมาก เมื่ออิตัลไทยกรุ๊ปประกาศร่วมทุนกับญี่ปุ่น โดยใช้ชื่อว่าบริษัทโตโยไทยเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด

 “ผมเป็นบริษัทเอกชน ผมต่อสู้มาพยายามออกทุกวิถีทาง พยายามพูดให้เคลียร์ มันไม่มีผล… ผมคิดว่าเราต้องอยู่ถ้าไม่มีงานก็อยู่ไม่ได้” น.พ.ชัยยุทธโยงไปถึงการต่อสู้กับบริษัทก่อสร้างญี่ปุ่นอีกครั้งก่อนให้เหตุผลการตัดสินใจแบบหักมุม 180 องศาครั้งนี้

 “ที่นี่มันมีงานหนึ่ง ก่อสร้างโรงแยกแก๊สที่มาบตาพุด เราเป็นซับ-คอนแทคงานกับโตโย เอ็นจิเนียริ่ง (ทีอีซี) เขาเป็นบริษัทญี่ปุ่นที่รับเหมางานนี้ งานทำไปเรียบร้อยดี ผมรู้จักผู้จัดการใหญ่เขา เคยไปดูงานที่บริษัทเขา เราก็เห็นว่าบริษัทโตโยมีงานทั่วโลก โดยเฉพาะงานก่อสร้างโรงงานใหญ่ โดยเมื่อเราร่วมกับเขาก็มีโอกาสได้งานด้านโยธา…” ผมเคยเขียนไวในตอนนั้น

ว่ากันว่าโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่หรือที่เรียกว่าโครงการระดับนานาชาติ  ผู้รับเหมาไทยไม่สามารถเข้าร่วมประมูลตามลำพังได้ อันเนื่องมาจากกติกาของเจ้าหนี้เงินกู้ระหว่างประเทศ  จากจุดนั้นควรจะถือว่า เป็นจุดเริ่มต้นของความพยายามทั้งร่วมมือกับผู้รับเหมาระดับโลก และพยายามยกระดับตนเองเป็นผู้รับเหมาระดับโลกในเวลาต่อมา

วิกฤติการณ์ครั้งใหญ่

จากนั้นมาโครงการขนาดใหญ่เช่นนี้เกิดขึ้นอีกมากในสังคมไทย   ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่สังคมไทยกำลังพัฒนาไปอย่างมาก  ตามภาวะเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงโลดโผนมากช่วงหนึ่ง    ก่อนจะมาถึงวิกฤติการณ์ครั้งใหญ่ในปี2540

ก่อนหน้าเพียงเล็กน้อย อิตาเลียนไทยตัดสินใจเข้าตลาดหุ้น  ว่าไปแล้วถือเป็นช่วงที่ดีของตลาดหุ้นไทย แต่เผอิญเป็นช่วงท้าย   อิตาเลียนไทยจึงยังไม่สามารถใช้ประโยชน์จากตลาดหุนอย่างเต็มที  ไม่เพียงเท่านั้นวิกฤติการณ์ครั้งใหญ่ส่งผลให้อิตาเลียนไทยต้องตีแผ่ตนเอง ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้

สำหรับอิตาเลียนไทยกับตระกูลกรรณสูตในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อมีเรื่องดราม่าเสมอ  นี่เป็นอีกครั้งหนึ่ง เช่นเดียวกันในช่วงกำลังฟื้นตัวด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ บุตรเขยคนสำคัญของนายแพทย์ชัยยุทธ กรรณสูตเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุและจากนั้นไม่นานนายแพทย์ชัยยุทธ ก็ถึงแก่กรรม

บางคนมองว่าอิตาเลียนไทยมีเส้นสายหรือสายสัมพันธ์ทีดี(ความจริงก็คือมีผู้รับเหมาไทยรายใหญ่อีกหลายรายถูกกล่าวถึงเช่นนี้)   สามารถรับงานโครงการใหญ่ที่สุดที่ช่วยให้เอาตัวรอดจากวิกฤติมาได้ นั่นคือโครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ   สำหรับมุมมองอีกแง่หนึ่ง อิตาเลียนไทยคือกิจการรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ที่สุดของเมืองไทย  มีผลงานระดับโลกมากกว่ารายอื่น คงไม่มีใครคิดว่ควรยกโครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิทั้งหมดให้ผู้รับเหมาต่างชาติไป

ขณะเดียวกันโครงการประมูลระดับนานาชาติในประเทศเพื่อบ้านหรือในเอเชีย  อิตาเลียนไทยก็สามารถชนะการประมูลได้งานมาหลายครั้งหลายหนเช่นกัน  บางคนอีกนั้นแหละก็ว่า อิตาเลียนไทยมีความสัดทัดในการ “วิ่งเต้น”รับงานโดยเฉพาะกับประเทศด้อยพัฒนา ด้วยมีประสบการณ์รอบด้านจากสังคมไทย  หรือมุมมองที่กว้างขึ้น  อธิบายความสัมพันธ์ของรัฐกับผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ เป็นความสัมพันธ์ที่เกื้อกูล เชื่อมต่อถึงโครงการที่รัฐหนึ่งมีอิทธิพลต่ออีกรัฐหนึ่ง โดยเฉพาะความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ   มุมมองนั้นอาจมาจากภาพที่เห็นและเป้นอยู่ของธุรกิจก่อสร้างระดับโลกที่ปะกบมากับโครงการเงินกู้ เงินช่วยเหลือของประเทศนั้นๆ จนมาถึงกรณี ประเทศอิรัก  ว่ากันว่ากิจการรับหมาก่อสร้างของผู้นำประเทศมหาอำนาจ เข้าไปบทบาทในบูรณะประเทศ หลังจากที่ใช้อาวุธอเมริกันถล่มจนเสียหายยับเยิน

ผมเห็นว่าโครงทวายที่พม่า ของอิตาเลียนไทย น่าสนใจมาก โดยไม่อาจมีสรุปเช่นเดียวกับ บทพึมพำที่ผมอ้างมาในย่อหน้าก่อนหน้านั้นเท่านั้น

ขอถือโอกาสอรรถาธิบายเรื่องนี้เป็นการเฉพาะในตอนต่อไป

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น