ปตท.ที่น่าทึ่ง

จากนี้เรื่องราวปตท. ย่อมน่าสนใจในวงกว้างมากขึ้นอย่างแน่นอน  ขอถือโอกาสนี้สำรวจและสัมผัสโมเดลทางธุรกิจบางระดับ  พัฒนาการใหม่ๆบางมิติของธุรกิจของปตท.ไม่เพียงสะท้อนโอกาสที่เปิดขึ้นอย่างกว้างขวาง  รัฐวิสาหกิจแปลงกายทั้งหลายเฝ้ามองด้วยใจจดจ่อ ที่สำคัญมองเห็นสะท้อนพัฒนาทางสังคมและอิทธิพลแกนนำของอำนาจ

ปตท.เรียกธุรกิจใหม่ที่น่าทึ่งจะกล่าวถึงนี้ว้า ธุรกิจปิโตรเคมี(Petrochemical Business) ขณะที่คูแข่งและพันธมิตรที่น่าเกรงขามเพียงรายเดียวของไทย-เอสซีจี เรียกว่า ธุรกิจเคมีภัณฑ์ (Chemicals business) ว่าไปแล้วโครงสร้างธุรกิจครบวงจรของทั้งสอง ไม่ซ้อนทับกันทีเดียว

ยุคที่ 1

โครงสร้างและการจัดสรรครั้งใหญ่  ถือเป็นจุดเริ่มต้นอุตสาหกรรมปิโตรเคมีครบวงจรในประเทศไทย ผมเคยเขียนพาดพิงไว้ “บางคนมองว่าเป็นยุคของการจัดสรร โอกาสและกระบวนการสร้างความมั่งคั่งครั้งสุดท้าย ของกลุ่มอิทธิพลดั้งเดิมของสังคมธุรกิจไทย ก่อนยุคโลกาภิวัฒน์ (จากเรื่อง มาจากแรงบีบคั้น?)

แผนแม่บทโครงการปิโตรเคมีของรัฐ ซึ่งก่อตั้งบริษัท ปิโตรเคมีแห่งชาติ จำกัด(National Petrochemical Corporation Ltd.หรือ NPC) เมือปี 2527 มีเป้าหมายสร้าง Petrochemical Complexขั้นต้นของอุตสาหกรรม โดยนำก๊าซธรรมชาติที่เพิ่งถูกขุดขึ้นจากอ่าวไทยมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ตามความหวังอัน”โชติช่วงชัชวาล”

ทั้งนี้อยู่ภายใต้ยุทธ์ศาสตร์อันหนักแน่นมั่นคงยุครัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์   โดยมี ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในขณะนั้น เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญผลักดันอย่างแข็งขัน โดยคัดเลือกผู้ร่วมทุนฝ่ายเอกชนที่บุกเบิกทางการค้าและการผลิตในอุตสาหกรรมนี้ขึ้นมา 4 ราย เข้าร่วมโครงการปิโตรเคมีแห่งชาติ  โดยปตท.ถือหุ้นจำนวนมากกว่ารายอื่นในฐานะ ผู้มีตำแหน่งทางยุทธ์ศาสตร์ในการดูแลและจัดการเรื่องพลังงานของรัฐ  ซึ่งถือเป็นวัตถุดิบพื้นฐานสำคัญของโครงการนี้

กลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อยเหล่านี้คือกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ถูกจัดสรรและอนุญาตให้มีขึ้นอย่างเข้มงวด

หนึ่ง– กลุ่มบริษัทไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ จำกัด ของตระกูลเอื้อชูเกียรติ  ซึ่งดำเนินธุรกิจนี้ด้วยการร่วมทุนกับญี่ปุ่นก่อนหน้านั้น สอง- กลุ่มศรีกรุงวัฒนาในฐานะผู้นำเข้าเม็ดพลาสติกโดยมีธนาคารกรุงเทพเป็นแกนสำคัญ ถือว่าเป็นที่อิทธิพลอย่างมากในยุคนนั้น  สาม- กลุ่มทีพีไอ  ของประชัย เลี้ยวไพรัตน์ ดำเนินธุรกิจนี้มาก่อนใครๆ และสี่-เครือซิเมนต์ไทยหรือเอสซีจี   ถือว่าเป็นรายใหม่ที่ไม่เคยมีธุรกิจเกี่ยวข้องโดยตรงมาก่อน แต่มีภาพพจน์เป้นกลุ่มอุตสาหกรรมชั้นนำของไทย 

นับเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของแผนการทางยุทธ์ศาสตร์ใหญ่ที่สุดของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในขณะนั้นหน่วยงานวางแผนของรัฐแห่งนี้ทรงอิทธิพลอย่างมาก ถือเป็นผลงานอันภาคภูมิใจของ ดร.เสนา อุนากูล  เลขาธิการ(2523-2532) ขณะนั้น และมี ดร.สาวิตต์ โพธิวิหค บุคคลสำคัญดูแลโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออกอย่างต่อเนื่องทั้งในตำแหน่งข้าราชการประจำ จนหลายครั้งเป็นนักการเมืองหรือรัฐมนตรีก็ยังมีบทบาทดูแล แผนการทางยุทธ์ศาสตร์นี้อย่างต่อเนื่อง

ดร.สาวิตต์ โพธิวิหค  ตามคำนิยามของผม  ถือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีบทบาทในสังคมยุคนั้น  เป็นนักเรียนนอก  เข้ามามีบทบาทในช่วงหลังสงครามเวียดนาม ยุคที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวมากขึ้น ซับซ้อนมากขึ้น  จะถือคนรุ่นเดียวกัน ต่อมามีบทบาทมากโดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ อาทิ ชุมพล   ณ ลำเลียง   ศิวะพร ทรรทรานนท์      ธารินทร์   นิมมานเหมินทร์   ปรีดิยาธร เทวกุล ในภาคเอกชน  โอฬาร ไชยประวัติ     เอกกมล คีรีวัฒน์    ปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ จากภาครัฐ เป็นต้น  บุคคลเหล้าเป้นองค์ประกอบที่”ดูดี”ของโครงสร้างอำนาจทางสังคมยุคนั้น และต่อเนืองมา

โครงสร้างนี้ถือเป็นรากฐานของอุตสาหกรรมใหญ่ และเป็นรากฐานของการกำเนิดนิคมอุตสาหกรรมที่ขยายใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก  จึงเป็นเรื่องช่วยไม่ได้ว่าปัญหาที่เกิดที่มาบตาพุด มักจะถูกเชื่อมโยงมาถึงบุคคลในอดีตนี้เสมอ   โดยเฉพาะ ดร.สาวิตต์ โพธิวิหคซึ่งมีบทบาทในฐานะที่ปรึกษาคนสำคัญของรัฐบาลชุดนี้ด้วย   บทสนทนาล่าสุดดูเหมือนเขายอมรับว่าการพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก ดำเนินไปเกินกว่าจินตนาการไว้แต่แรก

จากนั้นเมื่อโครงการเดินหน้าไปอย่างดี  ในช่วงปี2533มีโครงการะยะที่สอง โดยตั้งบริษัทไทยโอเลฟินส์ ถือเป็นการรองรับการขยายของอุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างหลากหลายมากขึ้น โครงสร้างผู้ถือหุ้นยังคล้ายๆเดิม โดยมีปตท.ถือหุ้นใหญ่

บทบาทปตท.ดูเหมือนจำกัดไว้อย่างที่ควรจะเป็น ดำเนินกิจการอย่างมีโฟกัส ด้านจัดหาน้ำมันและก้าซธรรมชาติ รวมทั้งขยายตัวแนวตั้ง การเริ่มต้นลงทุนและดำเนินด้านสำรวจและผลิตเอง  ในธุรกิจปิโตรเคมีจำกัดเพียงผู้ถือหุ้นในบริษัทผลิตต้นธารเท่านั้น  ในขณะเดียวกันกลุ่มธุรกิจรายอื่นก็ดำเนินแผนการขยายตัวตามแรงบันดาลใจทางธุรกิจของแต่ละราย ดูเหมือนจะมีเพียงเครือซิเมนต์ไทยหรือเอสซีจี กับทีพีไอ เท่านั้นมีความแข็งขันในเรื่องนี้อย่างมาก

 ยุคที่2

พรบ.ทุนรัฐวิสาหกิจ ปี 2542 ตราขึ้นในสมัยชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี   เป็นจุดเริ่มต้นที่ยังมองไม่เห็นภาพชัดเจนของยุคใหม่ของปตท.

“เป็นเครื่องมือของรัฐเมื่อมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนสถานะของรัฐวิสาหกิจจากรูปแบบเดิมที่เป็นรัฐวิสาหกิจประเภทองค์การของรัฐ  … โดยการกระจายหุ้นที่รัฐถือไว้ให้แก่ภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนและการบริหารจัดการในกิจการที่รัฐวิสาหกิจเดิมดำเนินการอยู่ได้ต่อไปในอนาคต” บางตอนของหมายเหตุ ท้าย พรบ.นี้ว่าไว้

การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ได้แปรสภาพรัฐวิสาหกิจ มาเป็นบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ 2542 โดยให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน หนี้สิน ความรับผิดชอบ พนักงาน ลูกจ้างและส่วนธุรกิจทั้งหมดของ ปตท. ไปอยู่ที่ใหม่(1 ตุลาคม 2544)

ปตท.ได้เข้าซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วงปลาบปี 2544 ในช่วงปีแรกราคาหุ้นก็ขยับขึ้นอย่างช้าๆ จนถึงปี 2547สถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

เป็นช่วงเริ่มต้นยุคทักษิณ ชินวัตร(นายกรัฐมนตรี 17กุมภาพันธ์2544–19 กันยายน2549)ซึ่งเต็มไปด้วยการแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจ   ด้วยมีทีมงานมีแผนของตนเองอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ประหนึ่งมองข้ามหน่วยงานวางแผนที่เคยทรงอิทธิพลอย่างสภาพัฒน์ฯไป โมเดลความเชื่อดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาในยุคเทคโนแครตก่อนหน้านั้น ไม่มีหลักประกันว่าจะถูกปกป้องไว้ได้ทุกอย่าง

ในปี 2547เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างชัดเจนจากวิกฤติครั้งใหญ่ที่ยืดเยื้อพอสมควร การใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นในรอบสองทศวรรษ เช่นเดียวราคาน้ำมันเริ่มสูงขึ้น ปตท.ขยายตัวจากสินทรัพย์ระดับ 3แสนล้านบาทในปี2545 เพิ่มเป็น 9 แสนล้านบาทในปี2547 จากกำไรประมาณ 24,000 ล้านบาท ในปี2545 เพิ่มเป็นประมาณ 90,000ล้านบาทในปี 2548-9     ขณะเดียวกันราคาหุ้นจากไม่ถึง 50 บาทในวันเข้าตลาดหุ้นในปลายปี 2545เพิ่มขึ้นทะลุ400 บาทในปี 2547       

ปรากฏการณ์นี้บอกว่าความเป็นรัฐวิสาหกิจในความหมายเดิมที่ว่าด้วยยุทธ์ศาสตร์ความมั่นคงด้านพลังงาน กำลังเปลี่ยนไป  กลายเป็นบริษัทและหลักทรัพย์ที่สร้างโอกาสอย่างมากให้กับนักลงทุนระดับกว้างขึ้น  แม้ว่ากระทรวงการคลังจะถือหุ้นข้างมาก ก็คงมองความเป็นไปของกลไกลอย่างที่ผ่านเลยไป ผลประโยชน์แม้อาจะมากขึ้นก็คงมาจากเงินปันผล ปตท.กลายเป็นแม่เหล็กหรือหุ้นบลูชิพ มีบทบาทนำในตลาดหุ้นในสถานการณ์หลังจากตลาดหุ้นตกต่ำมานานพอสมควร  เป็นที่แน่ชัดว่าย่อมตามด้วยความคาดหมายของนักลงทุนที่สูงขึ้นๆ      มีผู้เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับผลประโยชน์ในนามนักลงทุนจำนวนมากขึ้นๆ  วงจรว่าด้วยแรงกดดันเพื่อรักษาระดับราคาหุ้น กลายเป็นปัจจัยหนึ่งของการบริหารจัดการอย่างอัตโนมัติ

อีกมิติหนึ่งโอกาสทางธุรกิจที่ว่าด้วยยุคทองของกิจการด้านพลังงานเปิดกว้างขึ้น จากผลประกอบการที่ดี ได้กระตุ้นและเปลี่ยนแปลงเจตนารมณ์เดิมจากกิจการพลังงานที่ดูแลความมั่นคงในประเทศ ไปสู่ความทะเยอทะยานเป็นกิจการพลังงานระดับโลก   เครือข่ายธุรกิจพลังงานครบวงจรภายใต้การสนับสนุนของรัฐ  เป็นโมเดลของประเทศกำลังเติบโต น่าสนใจอย่างมากในเวลานั้น

ในช่วงเวลาที่ผ่านไปนั้น อุตสาหกรรมปิโตรเคมีเดิมก่อร่างสร้างเมื่อสองทศวรรษที่แล้ว ไม่รุ่งโรจน์”โชตช่วงชัชวาล”อย่างที่คิด การลงทุนขนาดใหญ่บวกกับธรรมชาติของธุรกิจผันแปรไปตามตลาดโลก โดยเฉพาะมีความอ่อนไหวกับวิกฤติอย่างมากด้วย ผู้เล่นที่มาจากระบบจัดสรรธุรกิจอย่างเข้มงวดด้วยโมเดลเดิมในยุคเทคโนแครต เผชิญปัญหาถ้วนหน้า ความพยายามในการแก้ปัญหา กำลังนำไปสู่การเกิดขบวนการหลอมรวมครั้งใหญ่ 

เอสซีจีแม้จะอ่อนล้าไปบางช่วง แต่ก็กลับฟื้นตัว เริ่มขยายอาณาจักรและหลอมรวมกิจดารอื่นๆเข้ามา(ที่สำคัญคือผู้บุกเบิก และถือหุ้นร่วมกันในบริษัทปิโตรเคมีแห่งชาติ—ตระกูลเอื้อชูเกียรติ) ขณะที่คู่แข่งรายสำคัญพีทีไอ เผชิญปัญหาอย่างหนักหน่วงที่สุด ไม่ว่าประชัย เลียวไพรัตน์จะพยายามทุกวิถีทางแต่ดูแล้วไปไม่รอด บทเรียนครั้งนี้ไม่เพียงเป็นภาพสะท้อนของความคิดการณ์ใหญ่อย่างมากท่ามกลางโมเมนตัมการแข่งขันเอาเป็นเอาตายเท่านั้น ยังหมายถึงสถานการณ์ทุกอย่างเปลี่ยนไปได้เสมอ รวมทั้งความเชื่อมั่นและ สายสัมพันธ์ดั้งเดิม

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทยกำลังถูกสถานการณ์บีบบังคับให้หลอมละลายครั้งใหญ่  ด้วยแนวคิดที่ว่าประเทศไทยเล็กเกินไปที่จะมีกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมี  ขนาดเล็กและกลาง หลายแห่ง อย่างหลากหลาย  กระจัดกระจาย และไม่มีบูรณาการ

โจทก์ข้อนี้ดูเหมือนว่าแค่สองคำตอบเท่านั้น การหลอมรวมจะต้องเกิดขึ้นที่ใดที่หนึ่ง ไม่เอสซีจี ก์ปตท.  ขณะนั้นวงในก็คงคาดเดากันไม่ยากว่า รัฐบาลทักษิณอยากจะเห็นความเป็นไปในรูปแบบใด

เมื่อรู้ว่าจะต้องเดินทางสายใหม่ที่ที่ยิ่งใหญ่และน่ายินดี  ด้วยสร้างเครือข่ายธุรกิจใหม่อย่างยิ่งใหญ่ชั่วข้ามคืนปตท.ไม่เพียงจะเข้าครอบงำกิจการของทีพีไอ(เรื่องราวของทีพีไอ เป็นประหนึ่งภาพยนตร์ซีรีย์หลายตอน ตอนหนึ่งที่สำคัญ ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ LOCAL HERO ผมเขียนไว้เมื่อปี2543) ตามกระบวนการหลอมรวมที่ถูกกำหนดเป็น Agenda ไว้เท่านั้น ยังได้เข้าชื่อกิจการปิโตรเคมีรายเล็กๆอีกหลายแห่ง ตามขั้นตอนมีวางแผนไว้อย่างดี

ขั้นที่หนึ่ง ควบคุมอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐานด้วยการควบรวมกิจการต้นนำทั้งหมดที่เคยถือหุ้นใหญ่ โดยเฉพาะปิโตรเคมีแห่งชาติ และไทยโอเลฟินส์

ขั้นสอง  ซื้อกิจการในขั้นปลายที่เป็นรายเล็กๆและไม่อาจะอยู่ตามลำพังได้  ตามแนวคิดของอุตสาหกรรมครบวงจรนี้ในโมเดลระดับโลก

 สาม   การเข้าดูกิจการที่ที่พีไอ ผ่านขั้นตอนที่ดูยุ่งยากพอประมาณ

เพียง ปี2549 ปตท.ก็สามารถสร่างอาณาจักรธุรกิจระดับภูมิภาคขึ้นมาอีกแห่งหนึ่งนั่นคือ บริษัทปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน)  ซึ่งมีขนาด(สินทรัพย์ ประมาณ2 แสนล้านบาท)พอฟัดพอเหวี่ยงกับธุรกิจเคมีภัณฑ์ของเอสซีจี ซึ่งใช้เวลากว่าสองทศวรรษในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ยุคที่ 3

จากแผนการยุทธ์ศาสตร์ของเทคโนแครตในยุคเปรม  ติณสูลานนท์เมื่อ2ทศวรรษที่แล้ว เข้าสู่การนำรัฐวิสาหกิจแปลงกายอยู่ในรูปบริษัทเป็นหลักทรัพย์บลูชิพในตลาดหุ้น ในยุครัฐบาลประชานิยม เข้าสู่การหลอมรวมครั้งใหญ่

ทุกวันนี้มีเพียงปตท.กับเอสซีจีเท่านั้น  ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีครบวงจรเป็นรายใหญ่ในประเทศไทยและในอาเซียน ตามแนวติดที่ว่าอุตสาหกรรมนี้จะมีความสามารถในการแข่งขัน  ต้องมีตำแหน่งในระดับภูมิภาค   แต่ภายใต้กระบวนการหลอมรวมกัน  เอสซีจีได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นข้างน้อยมีพลังอยู่ในปตท.เคมิคอลด้วยประมาณ 20%   

เป็นความสืบเนื่องจากจากจัดสรรโอกาสครั้งแรกๆในอุตสาหกรรมนี้  เอสซีจีถือหุ้นจำนวนหนึ่งในปิโตรเคมีแห่งชาติและไทยโอเลฟืนส์ในสัดส่วนพอสมควร เมื่อรวมกับพันธมิตรรายอื่นๆอีก จึงมีสัดส่วนที่น่าสนใจ

เป็นบุคลิกของอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ  สะท้อนความเป็นไปของพัฒนาอย่างไม่ราบเรียบและคงเส้นคงว่า  สุดท้ายสังคมไทยมีเครือข่ายอุตสาหกรรมปิโตรเคมีครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดแหงหนึ่งระดับภูมิภาค

เป็นปรากฏการณ์และพัฒนาที่น่าทึ่งน่าศึกษาใช่ไหมครับ

ผู้เขียน: viratts

writer and farmer

ใส่ความเห็น